บุคคลชลประทาน พีรพล กมลรัตน์ “ตัวอย่างของทรัพยากรบุคคล คนรุ่นใหม่ ที่มุ่งพัฒนาทั้งตัวเอง และหน่วยงานอยู่ตลอดเวลา”


ชีวิตของคนเรามักมีช่วงหนึ่งที่ดิ่งลงเหวลึก หนทางที่จะปืนกลับขึ้นไปนั้นช่างดูมืดมน แต่พีรพล กมลรัตน์ บุคคลชลประทานของเราในฉบับนี้ มีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนหากมีความรู้สึกฮึดสู้ ทุ่มเทกับทุกภารกิจ ไม่ว่า จะเหน็ดเหนื่อยเพียงใด สักวันต้องกลับขึ้นมาสัมผัสแสงสว่างเช่นเบาได้อย่างแน่นอน

บุพการี ผู้ฉุดจากเหวลึก

พีรพล กมลรัตน์ นักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายปฏิบัติการส่วนเทคโนโลยี ภูมิสารสนเทศ สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา เล่าว่า เขาเกิด ในครอบครัวฐานะปานกลาง โดยมีคุณพ่อและคุณแม่เป็นข้าราชการทั้งคู่ พีรพลถือเป็นเด็กเรียนดีมาตลอด ในระดับอุดมศึกษาก็สามารถ เอ็นทรานซ์ติดคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ พ.ศ. 2550

สำหรับวัยรุ่นแล้ว ย่อมมีบ้างที่ชีวิตต้องวิ่งออกนอกลู่ซึ่งพีรพล ก็เคยพลาดพลั้งไปกับกิจกรรมการสังสรรค์ จนถึงขั้นเกรดเฉลี่ยตกมาอยู่ 1.9 ตั้งแต่ยังอยู่ระดับชั้นปี 1 ซึ่งช่วงนั้นเองที่เขารู้สึกว่าชีวิตของตนนั้นย่ำแย่ เหมือนตกสู่เหวลึก หากผลการเรียนในเทอมถัดไปยังไม่ดีขึ้น เขามีสิทธิ์ โดนรีไทร์

“แต่โชคดีที่ช่วงเวลาสับสนผมยังมีบุพการีชี้นำ โดยพ่อซึ่งเป็นครู ได้ตั้งคำถามกับผมว่า ผมตั้งใจเรียนมากพอหรือยัง ลองพยายามดูอีกหน่อยไหม ผมจึงย้อนคิดแล้วพบว่าตนเองนั้นหลงไปกับกิจกรรมมากมายทำให้เวลาในการทบทวนตำราบกพร่องซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเพียงไม่กี่คำถามของคุณพ่อทำให้ผมลุกขึ้นสู้อีกครั้ง ส่งผลให้ผลการเรียนดีขึ้นทุกเทอมไม่ทันจบระดับปริญญาตรีก็ได้ทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาการรับรู้ จากระยะไกลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ในระหว่างเรียนต่อปริญญาโทนั้น พีรพลมีโอกาสสอบเข้ารับราชการ ที่กรมชลประทาน ในตำแหน่งนักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายปฏิบัติการ และได้บรรจุในเวลาไล่เลี่ยกับที่ศึกษาจบพอดี เมื่อ พ.ศ. 2560

งานเบื้องหลังและภารกิจเสี่ยงตาย ในการช่วยชีวิตทีมหมูป่า 13 ชีวิต

ตำแหน่งนักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายปฏิบัติการจะมีหน้าที่สำรวจและทำแผนที่ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ หรือภาพถ่าย จากอากาศยานไร้คนขับเพื่อสนับสนุนงานของกรมชลประทานทั้งก่อนและหลังก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำต่างๆ แต่ละวันเขาจะอยู่ในพื้นที่มากกว่าในออฟฟิศซึ่งต้องใช้พลังกายเป็นอย่างมาก
แต่ความพร้อมทางกายก็ยังไม่เท่าความพร้อมทางใจเพราะทุกครั้งที่ออกสำรวจนั้นมีทั้งความตื่นเต้น ท้าทาย ไปจนถึงเรื่องเสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะภารกิจกู้ภัย ทีมหมูป่า 13 ชีวิตที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก ซึ่งพีรพลและเพื่อนร่วมงานนับเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้การกู้ภัยเป็นไปอย่างราบรื่น

“ทันทีที่ทราบข่าวเรื่องทีมหมูป่า 13 ชีวิตติดถ้ำ แม้ทีมของผมจะไม่ได้เป็นฝ่ายลุยตั้งแต่วันแรก ๆ แต่งานหลังบ้านก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะผมและเพื่อนร่วมงานได้ทำแบบจำลองความสูงภูมิประเทศ การวิเคราะห์เส้นทางน้ำแล้วส่งให้นักสำรวจที่อยู่ที่ถ้ำหลวง นอกจากนี้เรายังทำแผนที่สรุปกิจกรรมแต่ละวันทำฝายเบี่ยงทางน้ำ ทำจุดสูบน้ำออกจากถ้ำ ทำภาพสเกตเส้นทางเข้าถ้ำ รวมไปถึงการใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศในการวิเคราะห์แบบจำลองช่วยให้เห็นทิศทางการไหลของน้ำก่อนจะส่งข้อมูลให้ทีมกู้ภัยประเมินว่ามีเส้นทางอื่นในการเข้าถ้ำได้หรือไม่”

แม้ว่าภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่า 13 ชีวิตจะลุล่วงไปแล้ว แต่งานของกรมชลประทานก็ยังไม่จบเพียงเท่านั้นเพราะพวกเขายังมีหน้าที่บังคับอากาศยานไร้คนขับเพื่อถ่ายภาพพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากการปล่อยน้ำ เรียกได้ว่างานของพีรพลและทุกคนในทีมนั้นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ทั้งบู๊และบุ๋น วางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบต้องใช้ความเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างทีม และด้วยความไว้ใจและความสามัคคีของทุกคนในทีมจึงทำให้ทุกภารกิจที่มีความยากและเสี่ยงอันตรายคลี่คลายลงได้ด้วยดี

ผู้คิดค้นเครื่องบินโดรนลำแรกของกรมชลประทาน

พีรพล เล่าว่าเขาสามารถควบคุมอากาศยานไร้คนขับได้หลายรุ่นและมีโอกาสใช้อุปกรณ์หลายประเภททำให้สามารถดึงจุดเด่นของแต่ละรุ่นมาประดิษฐ์เป็นเครื่องบินโดรนประเภท Fixed Wing ภายใต้ชื่อรุ่น ธารทิพย์ 01-33 ซึ่งเป็นเครื่องบินโดรนลำแรกที่กรมชลประทานประดิษฐ์ขึ้นเองโดยหมายเลข 01 หมายถึง เครื่องลำแรก และ 33 หมายถึงอธิบดีกรมชลประทาน คนที่ 33 ซึ่งมีจุดเด่นที่น้ำหนักเบาสามารถทำงานได้ในทุกสภาพอากาศและทุกสภาพภูมิประเทศพร้อมทั้งออกแบบให้มี 3 ชิ้นส่วนในการถอดประกอบสามารถถอดปีกเพื่อให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายให้ผลลัพธ์ที่มีค่าความถูกต้องตามมาตรฐานเกณฑ์แผนที่สากลสามารถซ่อมอุปกรณ์ได้รวดเร็วไม่ต้องรออะไหล่จากต่างประเทศเป็นเวลานาน

 

ครุฑทองคำรางวัลของนักประดิษฐ์

ด้วยการทุ่มเทกับทุกภารกิจที่ได้รับมอบหมายประกอบกับการมีหัวนักประดิษฐ์ทำให้ปัจจุบันพรพลในวัย 31 ปี ถูกเสนอชื่อให้เข้ารับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น (ครุฑทองคำ) ระดับประเทศประจำปี พ.ศ. 2562 เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่ได้รับรางวัลดังกล่าวมาเชิดชูวงศ์ตระกูลตามรอยของพ่อแม่ที่ได้รับรางวัลนี้เช่นกัน

พีรพล เล่าความรู้สึกทิ้งท้ายก่อนจะขอเวลาไปปฏิบัติภารกิจของตนต่อว่ารู้สึกดีใจและเป็นเกียรติ อย่างมากที่ได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นเพราะวันนี้ตนได้เป็นตัวอย่างของทรัพยากรบุคคลของกรมชลประทานคนรุ่นใหม่ที่มุ่งพัฒนาทั้งตัวเองและหน่วยงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้กรมชลประทานมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานยิ่งขึ้น ในอนาคต