ส่อง! 7 สายการบินที่รัฐฯ เตรียมออกซอฟท์โลน 2.4 หมื่นล้าน ช่วยธุรกิจเดินต่อ-ไม่ปลดพนักงาน


อุตสาหกรรมการบิน ถือว่าเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่การเดินทางทุกอย่างต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถทำกิจกรรมได้จึงส่งผลกระทบกับผู้ให้บริการด้านสายการบินที่ต้องแบกรับต้นทุน โดยไม่มีรายได้เข้ามา จึงมีข้อเสนอเรียกร้องให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ส.ค.63 คณะผู้บริหารระดับสูงของ 7 สายการบินในประเทศไทย ประกอบด้วย สายการบินไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, ไทยสมายล์ แอร์เวย์, ไลอ้อนแอร์, ไทยเวียดเจ๊ท, บางกอกแอร์เวย์ และนกแอร์ ได้เข้าหารือกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจการบินของประเทศไทยเนื่องจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19

ข้อเสนอของสายการบิน

สำหรับข้อเสนอของผู้บริหาร 7 สายการบินที่ต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือ แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการสายการบิน โดยขอเสนอให้พิจารณามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท แก่ผู้ประกอบการสายการบินให้เร็วที่สุด

2. ขยายระยะเวลาการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น

3. การยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบิน เช่น การขึ้นลงของอากาศยาน (Landing fee) ที่เก็บอากาศยาน (Parking fee)

โดยซอฟท์โลนวงเงิน 24,000 ล้านบาท จะเป็นประโยชน์ช่วยพยุงธรุกิจสายการบินให้ดำเนินต่อไปได้ ทั้งในเรื่องการใช้จ่ายทั่วไป และการจ่ายเงินให้กับพนักงานที่มีรวมกันกว่า 20,000 คน
.
ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่ากระทรวงการคลังได้เตรียมออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft loan เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีผลกระทบต่อสภาพคล่อง ผ่านธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนการยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบินนั้น สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมฯ ขยายออกไปถึงเดือนมีนาคม 2565 ขณะที่เรื่องการขอให้คงภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินนั้น จะยังคงคงไว้ตามที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563