ท่ามกลางความไม่แน่นอน “ธุรกิจค้าปลีก” ต้องปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด


ในปี 2563 ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายของอุตสาหกรรรมค้าปลีกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอด และเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค

จากมาตรการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ส่งผลกระทบธุรกิจค้าปลีกเป็นอย่างมาก โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าดัชนีค้าปลีกในเดือนพฤษภาคม 2563 ลดลง 34.01% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2563 ลดลงมาอยู่ที่ 47.2 ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2541 ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2563 มาอยู่ที่ 50.1

แม้ว่าปัจจุบันจะมีมาตรการคลายล็อกจากภาครัฐฯ ออกมาอนุญาตให้ธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่ก็ยังพบกับความไม่แน่นอน และจำเป็นต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นลูกค้าผ่านกลยุทธ์การขาย และการตลาด ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก เผยถึงการปรับตัวที่สำคัญของร้านค้าปลีกที่เห็นได้ชัด คือหันมาพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งลดขนาดหรือยกการเช่าพื้นที่ลง

สอดคล้องกับการสำรวจตลาดพื้นที่ค้าปลีกในเอเชียแปซฟิก Asia Pacific Retail Flash Survey ของซีบีอาร์อี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 พบว่าในช่วงครึ่งปี 2563 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงร้านค้าปลีก จะเปิดสาขาน้อยลง หรือเพิ่มสาขาไม่มาก

ทางรอดของธุรกิจค้าปลีก

ซีบีอาร์อี แนะนำว่าการทำธุรกิจค้าปลีกแบบเดิมอาจจะไม่ตอบโจทย์ลูกค้าในยุคปัจจุบันอีกต่อไป โดยผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกควรใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางทำการตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจทั้งออฟไลน์ และออนไลน์สามารถอยู่รอดได้

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกยังคงต้องใช้เวลาฟื้นตัว ยกเว้นเสียว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง เนื่องจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่งในประเทศไทยยังต้องพึ่งพากำลังซื้อจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับผู้ให้เช่าพื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้าจะต้องมีการจัดพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในเรื่องความสะดวกสบาย, สุขอนามัย, ความยืดหยุ่น รวมถึงการนำระบบออนไลน์เข้ามาใช้