ถอดบทเรียน “ชาบูนางใน” เมื่อทัวร์ลงจนส่งผลต่อภาพลักษณ์ จนสาขาอื่นต้องประกาศจุดยืน


กลายเป็นประเด็นดราม่าให้พูดถึงกันในโลกออนไลน์กันอย่างแพร่หลายในช่วงเวลาไม่กี่วัน ระหว่างร้านชาบูนางใน กับลูกค้า

เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากลูกค้าท่านหนึ่งได้เขียนรีวิวลงในเฟซบุ๊กแฟนเพจชาบู ชาบู นางใน สาขาย่านพระรามเก้า 43 ว่าเสียความรู้สึก เพิ่งเคยเจอร้านบุฟเฟต์ที่เจ้าของร้านขู่จะคิดเงินเพิ่มโดยให้เหตุผลว่ากินเยอะเกินไปจนร้านไม่ได้กำไร

หลังจากนั้นไม่นานมีการชี้แจงจากทางร้านว่า ลูกค้ารายดังกล่าวรับประทานแต่เนื้อ และกุ้งลวก พร้อมยกตัวอย่างประกอบว่าการกินบุฟเฟต์ต้องรับประทานอาหารที่หลากหลาย อีกทั้งการไม่จำกัดเวลา หากพบว่ามีลูกค้ากินเนื้อ 6-12 จาน จานขนาด 12 นิ้ว จะไหวไหม มันไม่ยุติธรรมกับคนทำธุรกิจ

สำหรับลูกค้ารายนี้ทางร้านชี้แจงเพิ่มเติมว่าเป็นลูกค้าที่มารับประทานนานกว่า 3 ปี โดยเลือกรับประทานเฉพาะเนื้อ ซึ่งเจ้าของร้านได้เข้าไปบอกกับลูกค้ารายนี้ว่า คราวหน้าจะคิดเงินเพิ่ม 200 บาท จากเดิม 349 เป็น 549 บาท

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นกระแสตีกลับมายังร้านชาบูนางในในโลกโซเชียลมีเดีย ดูได้จาก #ชาบูนางใน ที่ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ และมีการเข้าไปให้คะแนนรีวิวในหน้าเฟซบุ๊กแฟนเพจชาบู ชาบู นางใน สาขาย่านพระรามเก้า 43 จนคะแนนลดลงเหลือ 1.2 จากคะแนนเต็ม 5

ดูเหมือนว่าเรื่องจะไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์แบรนด์ชาบูนางในสาขาอื่น ๆ จนต้องออกมาชี้แจงว่าแม้จะใช้ชื่อแบรนด์เดียวกัน แต่ทุกสาขาของชาบูนางในเป็นอิสระในการบริหารงานจากเจ้าของคนละคน พร้อมประกาศจุดยืนลูกค้าสามารถรับประทานบุฟเฟต์ได้ไม่อั้น

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ ยังมีสาขาของร้านชาบูนางในบริเวณใกล้เคียงกับร้านเกิดเหตุที่ได้รับผลกระทบ คือ “ชาบู ชาบู นางใน สาขาต้นตำรับ (พระราม 9 ซอย 41 หลังเดอะไนน์)” ซึ่งถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสาขาเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าด้วยยุคสมัยที่การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่กลายเป็นช่องทางหลักของการสื่อสารของผู้คนในยุคปัจจุบัน ดังนั้นผู้ประกอบการไม่ว่าจะในธุรกิจอะไรก็ตามควรมีวิธีจัดการกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบครอบเสียก่อน เพราะหากสื่อสารออกไปไม่ดี สิ่งที่ตามมาคือผลกระทบที่จะมีต่อภาพลักษณ์แบรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไป