ปรินต์เนื้อกินเอง! “สเต๊กจากพืช” ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ!


พลิกโฉม “เนื้อ” จากพืชด้วยเทคโนโลยีพิมพ์ 3 มิติ เนื้อนุ่ม หอมกรุ่นเหมือนกินเนื้อวัวจริง ผู้พัฒนาเชื่อนี่คือการปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารครั้งยิ่งใหญ่

2-3 ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้นเริ่มมีบทบาทมากขึ้น สำหรับหลายคนที่ไม่กินเนื้อวัว ไม่ว่าจะเป็นเพราะเป็นมังสวิรัติ กินเจ หรือเพราะราคาที่แพง โอกาสที่จะได้ลิ้มรสเนื้อมาถึงแล้ว เพราะบริษัทจากอิสราเอลผลิตเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D printers) ที่สร้างเนื้อวัวที่เหมือนจริงขึ้นมาได้ ซึ่งปัจจุบันก็กำลังอยู่ในช่วงทดลองทดสอบกันอย่างต่อเนื่อง และจะนำไปใช้เป็นเนื้อทดแทนในร้านอาหารต่าง ๆ ในอนาคต

โดยเนื้อสเต๊กชิ้นนี้ทำมาจากถั่วเหลือง โปรตีนถั่ว ไขมันมะพร้าว น้ำมันดอกทานตะวัน รวมไปถึงสี และรสชาติจากธรรมชาติ ผ่านการดีไซน์ให้เหมือนเนื้อวัวจริง ๆ มากที่สุด ทั้งกล้ามเนื้อ เนื้อสัมผัส รสชาติ รวมถึงต้องมีโปรตีนสูง ไขมันน้อยให้เหมือนเนื้อตามธรรมชาติ

 

 

ทั้งหมดนี้ถือเป็นก้าวใหม่ของการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติหรือ 3D-printing โดยบริษัทอิสราเอลรายนี้พัฒนา “หมึกพิมพ์” ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชหลากหลายชนิด เพื่อสร้างเนื้อสัตว์ทางเลือกซึ่งบริษัทเรียกว่า Alt-Steak ตัวเครื่องพิมพ์จะใช้สูตรงานพิมพ์แยกกัน 3 ส่วนที่บริษัทตั้งชื่อว่า Alt-Muscle, Alt-Fat และ Alt-Blood เพื่อพิมพ์เนื้อสัตว์ทางเลือกที่รวมความนุ่มไว้ครบ

 

 

วัตถุดิบเหล่านี้ได้รับการยืนยันว่าผลิตจากส่วนผสมจากพืชธรรมชาติที่รักษ์โลก และเป็นวัตถุดิบที่มีการบริโภคกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น ถั่วเหลือง โปรตีนถั่ว ไขมันมะพร้าว และน้ำมันดอกทานตะวัน

ตามรายงานระบุว่า เจ้าเนื้อสเต๊กดังกล่าว มีลักษณะกลิ่น และรสชาติเหมือนกับเนื้อวัวแท้ โดยมีสีสัน และรสชาติตามธรรมชาติ ผลจากการพิมพ์แบบซ้ำไปซ้ำมาโดยเลียนแบบโครงสร้างกล้ามเนื้อของเนื้อวัว แต่ด้วยความเป็นวัตถุดิบจากพืชจึงไม่มีคอเลสเตอรอล

ผลงานเนื้อสุดเจ๋งนี้เป็นของบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นโดยเอสชาร์ เบ็น-ชิตริต (Eshchar Ben-Shitrit) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Redefine Meat ที่พยายามสร้างทางเลือกเนื้อสัตว์มังสวิรัติโดยใช้กระบวนการดิจิทัล เพื่อลดการบริโภคเนื้อสัตว์ รวมถึงขยะจากอาหารที่กำลังเป็นปัญหาเรื้อรังของโลก

เบื้องต้น มีการระบุว่าจะทดลองทำตลาดเนื้อสเต๊กที่ร้านอาหารระดับไฮเอนด์บางแห่งในปลายปีนี้ โดยจะทดลองด้วยการนำไปให้พ่อครัวปรุงเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะ เมื่อปรับปรุงแล้วจะเพิ่มการผลิตเครื่องพิมพ์เนื้อ 3 มิติ และขายในซูเปอร์มาร์เก็ตในปี 2022

 

 

ซีอีโอ Redefine Meat ยังระบุอีกว่า จะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติของบริษัทให้ดีขึ้นอีก เพื่อให้กระบวนการผลิตเนื้อสเต๊กโดดเด่นทั้งด้านวิศวกรรม อาหาร และการผลิตด้วยเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งหมดนี้ บริษัทเชื่อว่าจะสร้างทางเลือกเนื้อสัตว์ที่อร่อย และราคาไม่แพงสำหรับอาหารจานสเต๊ก

อย่างไรก็ตาม พวกเขาเชื่อว่านี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมทางอาหารที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการอาหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อโดยเฉพาะ รวมไปถึงเชฟ และนักชิมอีกด้วย เพื่อให้ได้เนื้อสัมผัสที่ดี มีความชุ่มฉ่ำ มีการแตกตัวของไขมันในปาก และรสชาติดีมากที่สุด