สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยรายงาน “ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนสิงหาคม 2563” โดยสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น ล่าสุด องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2563 ว่าจะหดตัวเพียงร้อยละ 4.5 ดีขึ้นกว่าประมาณการครั้งก่อนหน้าที่คาดว่าจะหดตัวถึงร้อยละ 6.0 ภาคการจ้างงานของสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวดี และภาคการผลิตจีนกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งเศรษฐกิจทั่วโลกต่างมีทิศทางดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องจากธนาคารกลางทั่วโลก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนสิงหาคม 2563 กลับมาแตะเหนือระดับ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2
สินค้าที่ขยายตัวได้ดีแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1) สินค้าอาหารเช่น ข้าวพรีเมียม ข้าวกล้อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง
2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงขยายตัว เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์
3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการแพร่ระบาด
เป็นต้นมา
โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศคู่ค้าที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูงอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ การส่งออกทองคำขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากปัจจัยด้านราคา ตามความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย
ด้านตลาดส่งออก ตลาดสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่หลายตลาดกลับมาขยายตัวหลังการหดตัวในรอบหลายเดือนที่ผ่านมาโดยเฉพาะสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และเมียนมา รวมทั้งตลาดอื่นๆ ที่มีสัดส่วนสำคัญกับการส่งออกไทย ล้วนมีอัตราการหดตัวที่ลดลงมากในเดือนนี้ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย สหราชอาณาจักร และเยอรมนี สะท้อนภาพรวมการค้าโลกที่เริ่มฟื้นตัว และส่งสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกของไทย
ภาพรวมการส่งออกไทยเดือนสิงหาคม 2563 มีมูลค่า 20,212.35ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.94 ขณะที่การส่งออก 8 เดือนแรก (มกราคม–สิงหาคม) หดตัวร้อยละ 7.75
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนสิงหาคม 2563 การส่งออก มีมูลค่า 20,212.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.94เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 15,862.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 19.68 การค้าเกินดุล4,349.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 153,374.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.75 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 134,981.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 15.31 ส่งผลให้ 8 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 18,393.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนสิงหาคม 2563 การส่งออกมีมูลค่า 635,219.53 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.43 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 505,383.49 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 17.54 การค้าเกินดุล 129,836.04 ล้านบาท ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 4,777,201.73 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 8.34 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 4,257,868.90 ล้านบาท หดตัวร้อยละ16.02 ส่งผลให้ 8 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 519,332.83 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 13.2 (YoY) สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัวร้อยละ 599.6 ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวสูงในอินเดีย และตลาดอื่น ๆ เช่น เคนยา มาเลเซีย และเมียนมา) สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 962.1 ขยายตัว 12 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในฮ่องกง ลาว และกัมพูชา) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 22.3 ขยายตัว 12 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิตาลี ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 15.6 ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 64.2 หดตัว 5 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวเกือบทุกตลาด อาทิ อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน แต่ยังขยายตัวได้ดีในเวียดนาม ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ) ยางพารา หดตัวร้อยละ 32.2 หดตัว 6 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในเกือบทุกตลาด อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯตุรกี บราซิล อินเดีย และเยอรมนี แต่ยังขยายตัวได้ดีในมาเลเซีย และเวียดนาม) ผักผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป หดตัวร้อยละ 28.7 หดตัว 2 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในหลายตลาด อาทิ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย และไต้หวัน แต่ยังขยายตัวได้ดีในสหรัฐฯมาเลเซีย เกาหลีใต้ และแคนาดา) ข้าว หดตัวร้อยละ 15.0หดตัว 4 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ ฮ่องกง เบนิน จีน คองโก สิงคโปร์ และออสเตรเลีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่น และแองโกลา) แต่ข้าวพรีเมียม และข้าวกล้องยังขยายตัวได้ดี ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 4.7
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 6.2 (YoY) สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ถุงมือยาง ขยายตัวร้อยละ 125.9 ขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี) เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 31.3 ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เปรู อินโดนีเซีย และอียิปต์) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 35.8 ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และลาว) ทองคำ ขยายตัวร้อยละ 71.5 (ขยายตัวในสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 55.6 (หดตัวในฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ แต่ขยายตัวในเยอรมนี และออสเตรเลีย) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 15.7 หดตัว 20 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวทุกตลาด อาทิ จีน เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฯลฯ) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 28.7 หดตัว 11 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และซาอุดีอาระเบีย แต่ขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่น เวียดนาม และสหรัฐฯ) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 18.3 หดตัว 11 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน อินเดีย และเนเธอร์แลนด์ แต่ขยายตัวได้ดีในสหรัฐฯ เม็กซิโก ฮ่องกง แอฟริกาใต้ เวียดนาม และเบลเยียม) ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 7.7
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดสำคัญมีการฟื้นตัวมากขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่หดตัวในอัตราที่ลดลงต่อเนื่องในหลายประเทศ สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก หลังจากหลายประเทศทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ ดังนี้
1) การส่งออกไปตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 4.1 โดยการส่งออกไปญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) หดตัวร้อยละ 16.6 และร้อยละ 16.9 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 15.2
2) การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูง หดตัวร้อยละ 10.2 จากการลดลงของการส่งออกไปอาเซียน (5) กลุ่มประเทศ CLMV และเอเชียใต้ ร้อยละ 16.5 ร้อยละ 9.3 และ 17.6 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปจีนหดตัวร้อยละ 4.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในจีน
และ 3) การส่งออกไปตลาดศักยภาพระดับรอง หดตัวร้อยละ 24.3 ตามการลดลงของการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย (25) หดตัวร้อยละ 22.5 ตะวันออกกลาง (15) หดตัวร้อยละ 30.3 ลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 34.7 รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 43.4 และทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 9.6
ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวสูงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 15.2 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 5.9
ตลาดจีน หดตัวร้อยละ 4.0 จากผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สด
แช่แข็งและแห้ง ยางพารา รถยนต์และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น สำหรับสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกล เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563ขยายตัวร้อยละ 3.3
ตลาดสหภาพยุโรป (15) หดตัวร้อยละ 16.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง โทรศัพท์และอุปกรณ์ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 17.1
ตลาดญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 16.6 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกล และ ไก่แปรรูป สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ โทรศัพท์และอุปกรณ์ และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 11.3
ตลาดอาเซียน (5) หดตัวร้อยละ 16.5 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำตาลทราย น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องจักรกล เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ และยางพารา เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 10.6
ตลาด CLMV หดตัวร้อยละ 9.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง น้ำมันสำเร็จรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบและเครื่องดื่ม เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ และเครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 11.5
ตลาดทวีปออสเตรเลีย (25) หดตัวร้อยละ 22.5 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล และเครื่องคอมพิวเตอร์ สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศเครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 15.4
ตลาดตะวันออกกลาง (15) หดตัวร้อยละ 30.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเครื่องจักรกล เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป โทรศัพท์และอุปกรณ์ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 13.1
ตลาดเอเชียใต้ หดตัวร้อยละ 17.6 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่เคมีภัณฑ์ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ไขมันและน้ำมันฯ (อาทิ น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง) น้ำมันสำเร็จรูป และเหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 34.9