รอดหรือร่วง! ประเมินธุรกิจ SME ไทย แนวโน้มจะเป็นอย่างไรหลังโควิด-19


การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในธุรกิจ SME ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้า แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามี SME หลายรายต้องเจ็บตัว พบกับความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจ ทั้งในเรื่องของรายได้ที่ขาดหายไป, สภาพคล่องทางการเงิน, การจ้างงาน โดยแต่ละรายล้วนมีวิธีปรับตัวที่แตกต่างกันออกไปเพื่อความอยู่รอด

สำหรับธุรกิจ SME ถือเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยมีผู้ประกอบการมากกว่า 3 ล้านราย มีการจ้างงานกว่า 12 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ภาครัฐฯ และสถาบันทางการเงิน ไม่สามารถปล่อยให้ SME ต้องต่อสู้เพียงลำพัง ซึ่งแต่ละฝ่ายล้วนออกมาตรการช่วยเหลือมาจนถึงทุกวันนี้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ประเมินธุรกิจ SME หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มบรรเทาลง โดยแบ่งกลุ่มธุรกิจ SME ออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย

1.กลุ่ม Slow

กลุ่ม Slow คือกลุ่มธุรกิจที่ปรับตัวได้ช้า มีความจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างเพื่อความอยู่รอด ได้แก่ ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ค้าปลีกเสื้อผ้า สถานบันเทิง ประดับยนต์ และโรงแรม

2.กลุ่ม Viable

กลุ่ม Viable คือกลุ่มธุรกิจที่พอปรับตัวได้ แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ ต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังเพื่อประคองกิจการ ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ร้านอาหาร ขายเครื่องจักร บริการทางธุรกิจ และธุรกิจที่ปรึกษา

3.กลุ่ม Swift

กลุ่ม Swift คือกลุ่มธุรกิจที่มีความพร้อมในการปรับตัวค่อนข้างรวดเร็ว ได้แก่ ธุรกิจขายสินค้าอุปโภคบริโภค บริการคอมพิวเตอร์ ร้านขายยา/ เวชภัณฑ์ ร้านสะดวกซื้อ และสถานพยาบาล

การฟื้นตัวของ SME ไทย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินว่าแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นไปในลักษณะ V, U, L Shape Recovery โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มข้างต้นดังต่อไปนี้

1.กลุ่ม Slow: เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยรายได้ลดลงมาก แต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายไม่ได้ลดลงตาม ส่งผลทำให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มนี้ขาดทุนต่อเนื่อง

2.กลุ่ม Viable: เป็นกลุ่มที่อยู่ในระดับกลาง ๆ สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ แม้รายได้ของธุรกิจจะลดลง แต่ก็ยังพอมีกำไรอยู่บ้าง

3.กลุ่ม Swift: เป็นกลุ่มที่ปรับตัว ฟื้นธุรกิจกลับมาได้อย่างรวดเร็ว โดยกำไรลดลงไม่มาก และผลการดำเนินงานยังเป็นบวก จากการพึ่งพึงตลาดภายในประเทศ

SME ไทยอยู่ในกลุ่มไหนมากที่สุด

ผู้ประกอบการ SME ไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่ม Viable คิดเป็น 65.7% เมื่อลงรายละเอียดจะพบว่าผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ 92.9% มีกำไรลดลง แต่ผลการดำเนินงานยังเป็นบวก และมีเพียง 7.1% เท่านั้นที่ขาดทุน ซึ่งจะอยู่ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ร้านอาหาร ขายเครื่องจักร บริการทางธุรกิจ และธุรกิจที่ปรึกษา

รองลงมา คือกลุ่ม Slow คิดเป็น 21.7% โดยผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ 73.7% มีกำไรลดลงแต่ผลการดำเนินงานยังเป็นบวก และ 26.3% ที่ขาดทุน ซึ่งจะอยู่ในธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ค้าปลีกเสื้อผ้า สถานบันเทิง ประดับยนต์ และโรงแรม

อันดับสุดท้าย คือกลุ่ม Swift คิดเป็น 12.6% โดยผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ 96.1% มีกำไรลดลงแต่ผลการดำเนินงานยังเป็นบวก ส่วน 3.9% ที่ขาดทุนซึ่งจะอยู่ในธุรกิจขายสินค้าอุปโภคบริโภค บริการคอมพิวเตอร์ ร้านขายยา/ เวชภัณฑ์ ร้านสะดวกซื้อ และสถานพยาบาล

ประเมินธุรกิจ SME หลังโควิด-19 จะไปในทิศทางไหน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีจัดลักษณะธุรกิจออกมาเป็น 4 กลุ่ม โดยวิเคราะห์จากความสามารถในการทำกำไร และสภาพคล่องทางธุรกิจ ออกมาดังต่อไปนี้

กลุ่มที่ 1 พร้อมโต

เป็นกลุ่มที่มีสถานะทางการเงินในระดับดีที่สุด รวมถึงมีความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างสูง โดยธุรกิจในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็น ร้านสะดวกซื้อ ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจบริการคอมพิวเตอร์ ที่ได้รับผลกระทบต่ำ หากมีการวางแผนทำการตลาด และลงทุนก็จะสามารถทำให้ธุรกิจเติบโตได้อีก เพราะมีศักยภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

กลุ่มที่ 2 พร้อมฟื้น

กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจค้าปลีกสินค้ายา/ เวชภัณฑ์ และเครื่องจักร ที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก โดยผลกระทบที่ได้รับจะเป็นในเรื่องของวงจรเงินสดที่ยาวขึ้น แต่สินทรัพย์หมุนเวียนน้อยลง ทำให้มีสภาพคล่องธุรกิจค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในกลุ่มนี้ยังโชคดีที่สามารถดำเนินการต่อไปได้ และทำกำไรได้ดี

กลุ่มที่ 3 รอฟื้น

เป็นกลุ่มที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจ ขนส่งผู้โดยสาร งานบริการทางธุรกิจ เช่น งานซ่อมบำรุง/ ทำความสะอาด รับเหมาก่อสร้าง ที่ปรึกษา ซึ่งวิธีการอยู่รอดของธุรกิจกลุ่มนี้ คือมองหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อหารายได้ทดแทน ตลอดจนการปรับลดต้นทุนภายใน เช่น การลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น เพื่อรอตลาดฟื้นตัวอีกครั้ง

กลุ่มที่ 4 รอรักษา

เป็นกลุ่มที่อาการหนักสุด โดยสถานะทางการเงินหนักที่สุด ซึ่ง SME ไทยจะอยู่ในกลุ่มนี่มากที่สุดคิดเป็น 34% ส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจโรงแรมที่พัก/ บริการท่องเที่ยว ค้าปลีกเสื้อผ้า ประดับยนต์และสถานบันเทิง โดยผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็น การจัดหาสภาพคล่องทางการเงิน, การปรับโครงสร้างหนี้และธุรกิจ, การมองหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อหารายได้ทดแทน