การตลาดไม่ว่าจะพ.ศ.ใด “การสื่อสาร” ยังถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด จะขายของได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการสื่อสารที่ดี กล่าวคือต้องดูว่าจะสามารถจูงใจลูกค้าเพื่อให้เกิดการตัดสินใจซื้อหรือไม่ โดยการสื่อสารจะต้องใช้เครื่องมือสื่อสารที่หลากหลายร่วมกัน ซึ่งเรียกว่าส่วนประสมการส่งเสริมการตลาด (Pomotion mix) ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ประกอบไปด้วย 5 ปัจจัย ที่จะทำให้แบรนด์ของคุณ ยืนหยัดค้าขาย อยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันในยุคนี้
การส่งเสริมการขาย “ลด-แลก-แจก-แถม” (Promotion)
4 อย่างที่ได้ใจเสมอ ซึ่งถือเป็นการจูงใจลูกค้าที่มีการทำกันมาอย่างยาวนานและมีผลตอบรับดี แต่มีต้นทุนที่สูงไม่แพ้กัน โดยการส่งเสริมการขาย หรือขยายความง่ายๆ คือการ ลด แลก แจก แถม เป็นการดึงดูดใจผู้บริโภคให้มีการตัดสินใจซื้อสินค้าโดยใช้การส่งเสริมการขายเป็นตัวดึงดูด แจกหรือแถมเพื่อให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้แต่ก็ต้องมั่นใจในสินค้าว่าแจกหรือแถมแล้ว ผู้บริโภคจะกลับมาซื้อซ้ำ
โฆษณา (Advertising)
ซึ่งก็คือ การติดต่อสื่อสารที่มีลักษณะเป็นการเชิญชวน หรือเป็นการบอกข้อดีของตัวสินค้า เพื่อกระตุ้นให้มีความต้องการซื้อสินค้า โดยผ่านสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณา หรือสื่อออนไลน์ที่เป็นที่นิยมอยู่ในตอนนี้ การโฆษณาที่ดีควรเลือกสื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคเป้าหมายได้ดีที่สุด และควรมีการวัดผลการสื่อสารได้ว่าเข้าถึงผู้บริโภคเป้าหมายได้แค่ไหนและมีผลตอบรับเป็นอย่างไร อย่างเช่น ผู้บริโภคที่ได้รับข้อมูลมีการตัดสินใจซื้อสูงถึง 50% เป็นต้น
สร้างตัวตน-สร้างการรับรู้ (Identity-Awareness)
เป็นการสื่อสารที่คล้ายการโฆษณาแต่ไม่ได้มีการเชิญชวนแต่อย่างใด แต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภค แจ้งถึงการมีตัวตนของสินค้าหรือบริษัท การสื่อสารให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงข่าวสาวข้อมูลของสินค้าหรือบริษัทที่ได้ทำรวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่สินค้าและบริษัท
การขายโดยพนักงานขาย (Personal Selling)
เป็นการสื่อสารตัวต่อตัวกับพนักงานที่เป็นตัวแทนของบริษัทกับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีการพูดคุยกับพนักงาน ทำให้พนักงานได้มีการ เชิญชวน หรือให้ข้อมูลได้ในทันที เป็นการเสนอขายด้วยวาจาอย่าใกล้ชิด และทำให้พนักงานของบริษัทรับรู้ถึงปัญหาของสินค้าที่มีต่อผู้บริโภคและนำมาแก้ไข แต่ในการจ้างพนักงานขายแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงและพนักงานถ้าขาดการอบรมที่ดีก็จะทำให้ข้อมูลที่ให้แก่ผู้บริโภคไม่ตรงกัน และอาจทำให้ภาพลักษณ์ของสินค้าเสียหายได้
การตลาดทางตรง (Direct Marketing)
เป็นความพยายามของบริษัทที่มีการสร้างช่องทางการติดต่อและตอบกลับจากลูกค้าได้โดยตรง หรือเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรงเพื่อให้ลูกค้าตอบสนองได้ในทันที หรือเพื่อที่จะสามารถตอบโต้กันได้ เช่นการเก็บข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ลูกค้าเพื่อติดต่อกลับพูดคุย การส่งข้อความทางอีเมล การส่งจดหมาย ส่งแคตตาล็อก หรือการขายผ่านออนไลน์ ที่สามารถเข้าถึงและรับการตอบกลับจากผู้บริโภคได้โดยตรง
เครื่องมือการสื่อสารการตลาดข้างต้นเป็นเครื่องมือที่สนองต่อผู้บริโภคที่แตกต่างกันไป โดยมีข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน
นักการตลาดต้องมีการพิจารณาและหาข้อมูลเครื่องมือเพื่อนำไปใช้ให้ตอบสนองให้ตรงกับผู้บริโภคและสื่อสารให้ถึงผู้บริโภคเป้าหมายให้ได้มากที่สุดและอาจต้องคำนึงถึงต้นทุน ผลตอบแทนว่าคุ้มกับการลงทุนหรือไม่อีกด้วย