ปิดดีล! เมื่อซีพีปิดดีลเทสโก้ โลตัส ผนึกกับเซเว่นฯ – แม็คโคร คุมค้าปลีกไทยแบบครบวงจร


ย้อนกลับมาไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มซีพีกลายเป็นผู้ชนะประมูลเข้าซื้อกิจการของ Tesco ในประเทศไทย และมาเลเซีย ด้วยมูลค่า 10,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 335,415 ล้านบาท)

โดยหนังสือที่แจ้งทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่าคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้บริษัทลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้นหรือผลประโยชน์การลงทุน (economic interest) ในสัดส่วนไม่เกิน 40% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ (ก) บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จํากัด (“เทสโก้ประเทศไทย”) ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ในบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในประเทศไทย และ (ข) Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. (“เทสโก้ประเทศมาเลเซีย”) ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในประเทศมาเลเซีย (ทั้งนี้ เทสโก้ประเทศไทยและเทสโก้ประเทศมาเลเซีย ต่อไปรวมกันเรียกว่า “กลุ่มเทสโก้เอเชีย”)

การลงทุนดังกล่าวของบริษัทจะเป็นการลงทุนโดยอ้อมผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน ได้แก่ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จํากัด (“บริษัทโฮลดิ้ง”) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (“บริษัทผู้ซื้อ”)

หากพูดถึง Tesco ในประเทศไทย อาจจะเรียกได้ว่ามีสาขาที่ครอบคลุม โดยปัจจุบันมีสาขาประมาณ 1,967 สาขา, ไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา, ตลาดโลตัส 179 สาขา และโลตัส เอ็กซ์เพรส 1,574 สาขา ซึ่งการปิดดีลในครั้งนี้ของซีพีอาจจะเป็นการปิดเกมค้าปลีกในประเทศอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะกลุ่มซีพีพวกเขาก็มีแบรนด์ค้าปลีกอยู่ในมือแล้วก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น 7-Eleven, แม็คโคร ยิ่งการเข้ามาล่าสุดของ Tesco ยิ่งทำให้กลุ่มธุรกิจค้าปลีกของซีพีจะครอบคลุมตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจำหน่าย รวมถึงได้ฐานลูกค้าจากหลายระดับเพิ่มขึ้นอีกด้วย