ชี้ชะตาเลือกตั้งสหรัฐฯ หากทรัมป์-ไบเดน ใครเป็นฝ่ายกำชัย จะส่งผลต่อไทยมากน้อยแค่ไหน


วันที่ 3 พฤศจิกายน 2020 ถือเป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเป็นการชิงชัยกันระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำคนปัจจุบันจากพรรครีพับลิกัน และโจ ไบเดน อดีดรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2 สมัย จากพรรค เดโมแครต

โดยในขณะนี้ได้มีการเริ่มนับคะแนนในแต่ละรัฐฯ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งโพลที่ออกมาส่วนใหญ่ต่างยกให้โจ ไบเดน จะเป็นฝ่ายชนะ ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ นอกจากนโยบายทางการเมืองแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นเรื่องจับตามองของหลายฝ่ายทั่วโลก คงหนีไม่พ้นนโยบายทางด้านการค้า และเศรษฐกิจ ที่จะส่งผลกระทบตามมา ทั้งในเชิงบวก และเชิงลบต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าการเลือกตั้งของสหรัฐฯ มันส่งผลกระทบต่อประเทศไทยขนาดไหน เพราะด้วยภูมิประเทศที่ตั้งอยู่กันคนละซีกโลกจะมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร แต่หากสังเกตเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ดี สถานการณ์การค้าที่เกิดขึ้นล้วนมาจากนโยบายของประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 อย่าง สหรัฐฯ ที่เป็นผู้กำหนดทิศทางการค้าโลกว่าจะให้เดินทางไปในทิศทางไหน และย่อมส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่อาจได้รับประโยชน์ และสูญเสียประโยชน์ไปในคราวเดียวกัน

แน่นอนว่าทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ และโจ ไบเดน ต่างมีนโยบายทางเศรษฐกิจการค้าที่แตกต่างกันออกไป โดยสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญอันดับ 1 ของไทย ซึ่งหากใครก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ ก็ต้องมีการรับมือให้สอดคล้องกับนโยบาย

หากทรัมป์เป็นฝ่ายชนะ

โดนัลด์ ทรัมป์ คือบุคคลที่สร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นกับโลกการค้า เมื่อเขาตัดสินใจทำสงครามการค้ากับจีน จนส่งผลกระทบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก รวมถึงไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ซึ่งจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้น หากทรัมป์เป็นฝ่ายชนะสงครามการก็ยังคงดำเนินต่อไป และอาจจะขยายวงกว้างไปสู่สงครามเทคโนโลยีต่อไป

อีกทั้ง ล่าสุดไทยยังถูกตัดสิทธิ์ GSP เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งหากทรัมป์เป็นฝ่ายชนะไทยก็จะสูญเสียสิทธิประโยชน์ในเรื่องนี้ไป เกิดการเสียเปรียบทางด้านราคากับคู่แข่งในตลาด และไม่อาจเจรจาต่อรองได้

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งนโยบายของทรัมป์ส่งผลให้บริษัทจีนย้ายฐาน ซึ่งจะทำให้ได้รับอานิสงส์ในกลุ่มสินค้า เช่น หม้อแปลงไฟฟ้า และส่วนประกอบ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น สหรัฐฯ ได้ประกาศสงครามการค้ากับจีน ดังนั้น ไทยจะได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ เนื่องจากไทยยังคงเป็นห่วงโซ่อุปทานจีน และข้อตกลง RCEP จะนำผลประโยชน์ย้อนคืนกลับมาสู่ไทย

อีกหนึ่งประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม คือ ทรัมป์มักจะทำในสิ่งที่ผู้คนทั่วไปคาดไม่ถึง นั่นหมายความว่าหากเจ้าตัวได้ดำรงตำแหน่งต่อไป เราอาจจะได้เห็นนโยบายที่เล่นงานประเทศคู่ขัดแย้งก็เป็นได้

หากไบเดนเป็นฝ่ายชนะ

แม้ว่าไบเดนจะเป็นฝ่ายชนะ แต่สงครามการค้ายังคงดำเนินต่อไป เพียงแค่เปลี่ยนไปใช้นโยบายอื่นแทน โดยเจ้าตัวมีจุดยืนสนับสนุนการค้าเสรีที่มีระเบียบปฏิบัติตามสากล ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ อาจจะกลับเข้าไปอยู่ในกติกาของ WTO อีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์สงครามการค้าจะลดความรุนแรงลง

ไม่เพียงเท่านั้น ไบเดนยังมีนโยบายฟื้นข้อตกลง Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) อีกครั้งหลังจากทรัมป์ได้ถอนตัวออกไป ให้กลับมาอยู่ในกติกาอีกครั้ง โดยไทยอาจจะเสียประโยชน์หากไม่เข้าร่วม แต่หากเข้าร่วมก็จะส่งผลดีต่อสินค้า เช่น ยางพารา ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง

แต่อีกด้านหนึ่งในเรื่องของการถูกตัดสิทธิ์ GSP อาจทำให้ไทยสามารถยื่นเรื่องขอคืนสิทธิ์กลับมาก็เป็นได้ เพราะไบเดนให้ความสำคัญกับสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีกับทั่วโลก

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมองว่า หากไบเดนเป็นฝ่ายชนะจะทำให้บรรยากาศการค้าดีขึ้น และจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินค้าไทย เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลแปรรูป ที่มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นอันดับต้น ๆ

ทั้งนี้ ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ หรือโจ ไอเดน ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะย่อมส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อไทยด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับว่าจะมีวิธีการแก้ไขปัญหา มีมาตรการรับมืออย่างไรให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี