ส่อง! นโยบายทางเศรษฐกิจของโจ ไบเดน กับภารกิจหลักพาสหรัฐฯ กลับมาผงาดอีกครั้ง


โจ ไบเดน กำลังก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ หลังจากผลคะแนนเลือกตั้งพรรคเดโมแครตมีคะแนนนำพรรครีพับลิกันอยู่ที่ 290-214 ซึ่งคะแนนดังกล่าวก็เพียงพอให้ โจ ไบเดน ขึ้นเป็นประธานธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 และเป็นผู้ที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์

หลังจากทราบผลคะแนนไม่นาน โจ ไบเดน ได้ประกาศชัยชนะ กล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้จบลงแล้ว นี่คือช่วงเวลาที่เราต้องเดินหน้าทำงานร่วมกัน เป็นมิตรต่อกัน มีความยุติธรรมต่อกัน และมีความหวังที่จะก้าวไปด้วยกัน

แน่นอนว่า โจ ไบเดน พร้อมแล้วกับความท้าทายที่กำลังรออยู่ข้างหน้าในการบริหารสหรัฐฯ ให้กลับมาผงาดในเวทีโลกอีกครั้ง ซึ่งประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามองคงหนีไม่พ้นนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะเป็นส่วนกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

สำหรับโจ ไบเดน เจ้าตัวมีนโยบายหลักที่เรียกว่า “Buy American” ที่สนับสนุนให้ใช้สินค้าที่ผลิตจากบริษัทสหรัฐฯ เป็นหลัก ซึ่งในส่วนนี้จะมีงบประมาณที่ทุ่มลงไปมากถึง 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 4 ปี เพื่อสนับสนุนให้เกิดการซื้อสินค้า และบริการจากบริษัทสหรัฐฯ

เช่นเดียวกับในส่วนของค่าครองชีพที่ โจ ไบเดน มีแนวทางที่ต้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานจากเดิม 7.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ /ชั่วโมง เป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ชั่วโมง เช่นเดียวกับในเรื่องของการเก็บภาษีจะมีการขึ้นอัตราภาษีบุคคลจาก 21% เป็น 28% และขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 37% เป็น 39%

อีกทั้ง ในส่วนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โจ ไบเดนยังมีแผนงานที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาคึกคักกันอีกครั้ง ผ่านโครงสร้างสาธารณูปโภค, เทคโนโลยีการสื่อสาร, อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมสะอาด ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของโลกยุคปัจจุบัน

เมื่อดูในเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ โจ ไบเดน มีแนวทางที่จะปัดฝุ่นฟื้นข้อตกลงเขตการค้าเสรี Trans Pacific Partnership ให้กลับมาอีกครั้ง หลังในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกปฏิเสธที่จะเจรจาเข้าร่วม ส่วนในเรื่องสงครามการค้ากับจีนนั้น อาจยังคงดำเนินต่อไปเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่ต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ให้กับชาวอเมริกัน แต่อาจจะมีการประนีประนอม ไม่รุนแรงเหมือนเมื่อก่อน

เรียกได้ว่าการก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ ของโจ ไบเดน ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอนกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอยไปทั่วทุกมุมโลกจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็ต้องมาดูกันอีกทีว่านโยบายทางเศรษฐกิจนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่? อนาคตข้างหน้าจะเป็นผู้ให้คำตอบ