ล้วงลึก! พฤติกรรม “นักช้อปทวิตเตอร์” ที่คนขายของควรรู้ ก่อนถึงเทศกาล 11.11


ปัจจุบันแพลตฟอร์มออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย กลายเป็นช่องทางหลักของผู้ที่ทำธุรกิจขายสินค้า และบริการที่ไม่อาจมีเพียงแค่หน้าร้านอย่างเดียวได้อีกต่อไป

ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน เห็นได้จากสมาร์ทโฟนที่ทุกคนต้องมีติดตัว และในเชิงพาณิชย์ด้วยความสะดวกสบายยิ่งขึ้นจึงทำให้สมาร์ทโฟนเครื่องเดียวสามารถกดสั่งซื้อสินค้าที่ต้องการได้โดยไม่ต้องเดินทางไปยังห้างสรรพสินค้าเหมือนแต่ก่อน

ปกติช่องทางส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการมักนำเสนอสินค้าคงหนีไม่พ้น Facebook, Instagram ที่ได้รับความนิยม รวมไปถึงแพลตฟอร์มอย่าง E-Marketplace อย่าง Lazada และ shopee อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งช่องทางที่มาแรง ไม่อาจมองข้ามได้ นั่นคือทวิตเตอร์ ที่ผู้บริโภคมักใช้เป็นช่องทางซื้อสินค้าออนไลน์เช่นกัน

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าอีคอมเมิร์ซกลายเป็นช่องทางเพิ่มโอกาสขายสินค้า โดยข้อมูลจาก Statista บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด ระบุว่าในปี 2563 ภาคอีคอมเมิร์ซมีการใช้จ่ายทั่วโลก คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้ง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา หากใครเป็นสายช้อปปิ้งต่างรอเวลาจัดโปรโมชันในแต่ละช่วงเวลาของเดือน ซึ่งการตลาดที่เห็นกันอยู่บ่อย คือ “ดับเบิลเดย์” ที่จะใช้ตัวเลขของวัน และเดือน มาสร้างเป็นโปรโมชัน เช่น 7.7, 8.8, 9.9 หรือ 11.11 ที่กำลังมาถึง

สำหรับ “ทวิตเตอร์” เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้บริโภคมักพูดถึงในเรื่องการซื้อสินค้า ดูได้จากทวิตเตอร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่าตลาดอีคอมเมิร์ซ และ เอ็มคอมเมิร์ซ ในประเทศไทยช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีมูลค่ารวมกัน 3.98 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในไทยมากกว่า 4 ใน 5 เลือกซื้อสินค้าออนไลน์

โดย 5 สินค้ายอดฮิตที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ประเทศไทย ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ในเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ 1.แชมพู 84.7% 2.น้ำยาปรับผ้านุ่ม 75.6% 3.ผงซักฟอก/น้ำยาซักผ้า 74.2% 4.ครีมนวดผม 66.0% และ 5.เสื้อผ้า 66.7%

สำหรับเหตุผลหลักที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ คือ 1.จัดส่งฟรี 63% 2.ส่วนลดต่าง ๆ 57% 3.จ่ายเงินเมื่อได้รับสินค้า 45% และ 4.เสียงสนับสนุนและการพูดถึงผลิตภัณฑ์นั้น ๆ 39%

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือนักช้อปทวิตเตอร์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง คิดเป็น 51% โดยมีความสนใจในเรืองของดนตรี, อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ, การทำอาหาร, ความงามและเครื่องสำอาง ส่วนผู้ชายคิดเป็น 49% ซึ่ง ’ มีความสนใจในเรื่องเทคโนโลยี, ดนตรี, การเล่นกีฬาและข่าวสาร

โดยขั้นตอนการวางแผนซื้อสินค้า พบว่า นักช้อปออนไลน์บนทวิตเตอร์ 94% จะหาข้อมูลสินค้าที่ตนเองต้องการ ก่อนตัดสินใจซื้อ

นักการตลาดควรทำอย่างไรเพื่อให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ

เทคนิคการทำการตลาดในช่วงวันแห่งการช้อปปิ้งออนไลน์ จะแบ่งออกเป็น 5 ช่วงเวลาด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1.เริ่มทวิต

ก่อนจะถึงวันที่มีการจัดโปรฯ สักหนึ่งอาทิตย์ ควรเริ่มต้นสร้างบทสนทนาขึ้นมาบนทวิตเตอร์ ผู้ใช้งานทวิตเตอร์จะทวีตถึงโค้ดส่วนลดต่าง ๆ และจะได้เก็บโค้ดเหล่านั้นเอาไว้เพื่อช่วยให้พวกเขามีส่วนลดเพิ่มในวันที่มีการจัดโปรฯ

2.อุ่นเครื่อง

เป็นช่วงเวลาที่ผู้ใช้งานบนทวิตเตอร์เริ่มปรึกษาพูดคุยกับเพื่อน ๆ ถึงสิ่งที่พวกเขากำลังวางแผนที่จะซื้อ ดังนั้น อาจจะใช้อินฟลูเอ็นเซอร์ทวิตเตอร์ เข้ามาส่งเสริมเพื่อให้เกิดอิทธิพลต่อแบรนด์

3.วันแห่งการช้อปปิ้งออนไลน์

วันนี้นักช้อปบางคนอาจจะยังค้นหาโค้ดส่วนลดอยู่ และนี่อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อในวันนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่คุณจะรีวิวผลิตภัณฑ์ และแสดงความคิดเห็น เพื่อสร้างอิทธิพลให้เกิดการตัดสินใจซื้อ

4.รีวิวแกะกล่องผลิตภัณฑ์

ผู้ที่ซื้อสินค้าบนทวิตเตอร์จะเข้ามาแบ่งปันข้อมูล รีวิวสินค้า หลังจากผ่านพ้นวันจัดโปรไปไม่กี่วัน ด้วยการแชร์ภาพลงทวิตเตอร์ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของแบรนด์ที่ทำการตลาดต่อไป เพื่อโน้มน้าวให้เกิดการตัดสินใจซื้อเพิ่ม

5.หลังจากวันจัดโปรฯ

ร้านค้ายังคงสร้างเอ็นเกจได้อย่างต่อเนื่องไปอีก 3-4 วัน หลังผู้บริโภคซื้อของไปแล้ว โดยอาจจะเริ่มทวีตฟีดแบ็กที่มีต่อสินค้า หรืออาจจะเตือนว่าโปรโมชันกำลังใกล้จะหมดแล้ว ด้วยข้อความที่กระตุ้นการอยากซื้อสินค้า เช่น “ลดกระหน่ำวันสุดท้าย” หรือ “โอกาสสุดท้าย” เป็นต้น