เทคนิคการเขียนแผนธุรกิจสำหรับ SME เขียนอย่างไรให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน


หากผู้ประกอบการมีความคิดอยากจะเริ่มลงมือทำธุรกิจ มีกิจการเป็นของตัวเอง สิ่งแรกที่ต้องทำ คือการเขียนแผนธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีที่ต้องไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินกับโจทย์ใหญ่ที่ว่าจะมีเทคนิคการเขียนแผนธุรกิจอย่างไรให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนแบบมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจแผนธุรกิจกันก่อน ซึ่งอธิบายง่าย ๆ คือแผนธุรกิจก็คือการแนะนำตัวเองให้กับคนอื่นได้รู้จักว่าธุรกิจคุณทำอะไรบ้าง มีจุดเด่น-จุดด้อยต่างจากคู่แข่งอย่างไร รวมถึงมีโอกาสทางตลาดมากแค่ไหน เหล่านี้จะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้กับสถาบันทางการเงินว่าจะอนุมัติสินเชื่อให้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่มีแผนงานที่จะยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันทางการเงินไม่ต้องกังวลใจ หากมีการเตรียมตัว เตรียมข้อมูลอย่างครบถ้วนก็จะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการยื่นเรื่องขอสินเชื่อ

สำหรับการเขียนแผนธุรกิจเพื่อยื่นขอสินเชื่อที่ดีควรมีอะไรบ้างนั้น มาดูกัน

1.บอกเล่าเรื่องราวธุรกิจ

เวลาที่เราจะทำความรู้จักกับใครเราก็ควรแนะนำตัวให้คนที่เราคุยรู้ว่าเป็นใคร มาจากไหน ทำอะไร เช่นเดียวกับการยื่นขอสินเชื่อที่ต้องมีการแนะนำ บอกเล่าประวัติธุรกิจของคุณคืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร มีการระบุแผนผังโครงสร้างองค์กรอย่างชัดเจน

2.กลยุทธ์การตลาด

สถาบันทางการเงินที่คุณไปขอสินเชื่อ มักให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะพวกเขาต้องไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนว่าเงินที่ถูกอนุมัติไปนั้น จะถูกชำระกลับมาครบถ้วนตามเวลาที่กำหนด ดังนั้น เรื่องที่ผู้ประกอบการควรทำ คือทำแผนการตลาด ระบุถึงกลยุทธ์ที่จะสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นใคร ด้วยวิธีการอะไร รวมถึงการวิเคราะห์จุดเด่น-จุดด้อย จากปัจจัยภายใน และภายนอก ซึ่งอาจจะทำเป็น SWOT Analysis มาเป็นหลักในการวิเคราะห์ก็ได้

3.บอกแผนการดำเนินงาน

แผนการดำเนินงานที่นี้ หมายถึงขั้นตอนการดำเนินงานทำธุรกิจว่าที่กระบวนการอย่างไรบ้าง ตั้งแต่แผนการผลิตสินค้า, การจัดการสินค้าคงคลัง และการจัดจำหน่าย ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นศักยภาพในการดำเนินงานของธุรกิจของคุณว่าเป็นอย่างไร เป็นระเบียบเรียบร้อยดีหรือไม่

4.แผนการเงินต้องชัดเจน

ธุรกิจต้องรู้ว่าจะต้องทราบแผนการลงทุนว่า หากจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้จะต้องใช้เงินทุนเท่าไหร่ และธุรกิจมีแหล่งรายได้มาจากทางไหนบ้าง โดยเรื่องนี้ถือเป็นอีกหัวข้อพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันทางการเงินที่สำคัญ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้น หากธุรกิจมีแผนการเงินที่ชัดเจนก็จะได้เปรียบ สร้างความมั่นใจให้กับผู้อนุมัติสินเชื่อได้

5.แผนสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉิน

การทำธุรกิจย่อมมีความเสี่ยงอยู่ตลอด ทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างหลังที่เป็นเหตุการณ์เหนือการควบคุมจากเหตุการณืที่ไม่คาดฝันจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นไปอย่างที่คาดไว้ แต่หากมีแผนฉุกเฉินก็จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันทางการเงินว่าธุรกิจจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้