แคนาดาเปิดตัว “เครื่องกำจัดแอลกอฮอล์” หายเมาเร็วกว่าเดิม 3 เท่า!


ตัวช่วยนักดื่ม?!? ทีมวิจัยแคนาดาเปิดตัว “เครื่องช่วยหายใจสลายแอลกอฮอล์” กระตุ้นปอดช่วยตับล้างพิษ! เห็นผลรวดเร็วกว่าเดิม 3 เท่า หายเมาในพริบตา

ถือเป็นอีกหนึ่งทางออกของ Pain Point ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มนักดื่ม เมื่อล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานข่าวที่สนใจ ระบุว่า ทีมนักวิจัยจากแคนาดา ได้คิดค้นเครื่องช่วยหายใจที่ช่วยกำจัดแอลกอฮอล์จากเครื่องดื่มมึนเมาให้ออกจากร่างกายได้เร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่า

ทีมนักวิจัยระบุว่า เครื่องช่วยหายใจดังกล่าวมีระบบการทำงานที่เรียบง่าย ช่วยให้สร่างจากอาการมึนเมาในอัตราที่เร็วกว่าปกติ และที่สำคัญคือสนับสนุนให้ปอดทำงานร่วมกับตับในการขับออกแอลกอฮอล์ร่างกาย จากปกติ “ตับ” จะทำหหน้าที่ล้างแอลกอฮอล์ในเลือกออกราว 90% และไม่มีทางเร่งกระบวนการนี้ได้ แต่ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่าเมื่อมีการทำงานของปอดมาช่วยสนับสนุนตับ จะช่วยล้างแอลกอฮอล์ออกจากเลือดและร่างกายได้เร็วขึ้นถึงกว่าเดิมถึง 3 เท่า

รายงานจากทีมวิจัยระบุว่า การหายใจนั้นจะผลักเอทานอลออกจากเลือดอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับสารประกอบอื่นๆ ในกรณีนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ดัดแปลงเครื่องช่วยหายใจขนาดเท่ากระเป๋าเดินทางที่เรียกว่า ClearMate เพื่อช่วยในกระบวนการนี้ในการสูบออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้าไป

“เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ใช้เทคโนโลยีขั้นต่ำซึ่งมีทุกที่ในโลก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือฟิลเตอร์ (ตัวกรอง) ใดๆ เหลือเชื่อว่าวิธีการนี้จะไม่มีใครทดลองทำตั้งแต่หลายสิบปีก่อน” โจเซฟ ฟิชเชอร์ วิสัญญีแพทย์ จากสถาบันวิจัยโรงพยาบาลโตรอนโต ในแคนาดา กล่าว

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้ ClearMate วางขายสำหรับการรักษาพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ในห้องฉุกเฉินตั้งแต่ปี 2562 และด้วยการพัฒนาครั้งล่าสุด จะมีการเพิ่มวิธีกำจัดการพิษจากแอลกอฮอล์ไปในอุปกรณ์นี้ด้วย

ในเบื้องต้น แม้จะมีทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างผู้ชายเพียง 5 คน จากผู้ที่มีและไม่มีแอลกอฮอล์ในเลือด (ใช้เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของวอดก้า) การทดลองด้วย ClearMate นาน 3 ชั่วโมง พบว่าร่างกายที่อัตราการกำจัดแอลกอฮอล์ในเลือดเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า

ทั้งนี้ จากผลลัพธ์การทดลองที่น่าประทับใจ ทีมวิจัยเตรียมพัฒนาในขั้นตอนต่อไปกับผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงกว่าเดิม โดยตั้งเป้าว่าอุปกรณ์ชุดนี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ และป้องกันการเสียชีวิตจากพิษภัยของแอลกอฮอล์ต่อคนทั่วโลกได้ในอนาคต

ที่มา : sciencealert