คนมีรถ ฟังทางนี้ ถอด 7 รหัส “ศัพท์ประกันภัย” รู้ไว้ได้ประโยชน์


คนมีรถยนต์ คงทราบดีว่าการทำประกันภัยเพื่อป้องกันกรณีที่อาจจะเกิดความเสียหายกับรถ รวมถึงความเสียหายที่ทำให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ตลอดจนผู้ที่โดยสารอยู่ในรถ เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่การจะซื้อประกันภัยรถยนต์ทั้งที ก็มีเรื่องที่หลายคนยังต้องปวดหัวไปกับคำศัพท์ยาก ๆ ที่ฟังยังไงก็ไม่เข้าใจเสียทีว่ามันมีความหมายว่ายังไง วันนี้ เรามีข้อมูลดี ๆ จาก  บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ได้ถอดรหัสศัพท์ประกันภัยน่ารู้เอาไว้แบบเข้าใจง่าย ๆ มาฝากกัน ดังต่อไปนี้

1.ซ่อมห้าง

หลายคนที่เพิ่งจะซื้อประกันภัยรถยนต์ อาจจะยังไม่เข้าใจคำว่าซ่อมห้างคืออะไร หรืออาจคิดไปว่าเป็นการนำรถยนต์เข้าไปซ่อมในห้างหรือเปล่า แต่แท้จริงแล้วคำว่า ซ่อมห้าง ในทางความหมายของบริษัทประกันภัยนั้นคือ การนำรถเข้าไปซ่อมอย่างเป็นทางการที่ศูนย์ หรือซ่อมโดยตรงกับบริการของศูนย์ของยี่ห้อรถยนต์นั้นๆ หรือทางศูนย์จะส่งต่อในร้านบริการข้างนอกที่ได้ตามมาตราฐานที่กำหนดซ่อม เหตุที่เรียกกันว่า ซ่อมห้าง ก็เพราะศูนย์บริการที่เปิดให้บริการซ่อมรถ หรือซ่อมอะไหล่ต่างๆ มักจะจดทะเบียนในนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด จึงทำให้เรียกกันสั้นๆ ว่า ซ่อมห้าง นั่นเอง

2.ค่า Excess

ค่า Excess (เอ็กเซส) หรือค่าความเสียหายในส่วนแรกที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ขับขี่ที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทประกัน เป็นค่าเสียหายที่เกิดจากความประมาทของการขับขี่ที่ไม่มีคู่กรณี หรือเป็นการปล่อยคู่กรณีไปโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ผู้ขับขี่ต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ค่าเสียหายเริ่มที่ 1,000-2,000 บาท หรืออาจจะมากกว่านั้น ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามบทบัญญัติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เนื่องจากการชนที่ไม่มีคู่กรณีนั้นเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทประกันภัยต้องเสียค่าสินไหมทดแทนโดยไม่จำเป็นให้กับผู้เอาประกัน จึงเป็นที่มาของค่าเสียหายนี้ที่ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบจ่ายเงินเบื้องต้น แต่ถ้าหากค่าใช้จ่ายเบื้องต้นมีจำนวนที่มากเกินไปทางบริษัทประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อเอง

3.เคลมแห้ง

การเคลมแห้ง คือการเคลมประกันรถยนต์หลังจากเกิดเหตุ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุแล้วผู้ขับขี่เพิ่งจะมาแจ้งการเคลมประกันในภายหลัง สามารถเป็นได้ทั้งแบบมีคู่กรณีและไม่มีคู่กรณี เช่น รถยนต์มีรอยขีดข่วนจากก้อนหินที่กระเด็นใส่ การเฉี่ยวชนทั่วไป ขับรถชนเข้ากับกระถางต้นไม้ และการชนแบบที่หาคู่กรณีไม่ได้ก็สามารถเคลมแห้งได้เช่นเดียวกัน

 

 

4.ใบเคลม

ใบเคลม ถือเป็นเอกสารสำคัญที่ผู้ขับขี่จะได้หลังเกิดเหตุ เพื่อเป็นการยืนยันเหตุการณ์จากบริษัทประกันภัยที่ได้ทำการสำรวจหรือตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว จากนั้นจึงนำรถเข้าซ่อมในที่ต่างๆ ที่เห็นสมควรจากผู้เอาประกันและบริษัทประกันภัย โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ทางบริษัทกำหนดไว้ ใบเคลมจะมีอายุประมาณ 2 ปี เมื่อจะเข้ารับการซ่อมนั้นผู้เอาประกันต้องนำใบเคลมไปด้วยเพื่อติดต่อเข้ารับการซ่อมกับทางศูนย์

5.ประเมินเสียหายโดยสิ้นเชิง

การประเมินเสียหายโดยสิ้นเชิง หรือ Total Loss คือ การที่บริษัทประกันภัยได้ประเมินมาแล้วว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถของคุณนั้นไม่คุ้มกับการซ่อมแซมหรืออาจซ่อมให้กลับมาเป็นสภาพเดิมไม่ได้แล้วและเหมาะกับการขายเป็นซากทิ้งมากกว่า ซึ่งการประเมินค่าความเสียหายนั้นจะตีราคาจากทางอู่ซ่อมหรือศูนย์บริการที่ได้นำเสนอมา จะประเมินโดยการเทียบกับราคารถคันใหม่ในรุ่นเดียวกันที่เกิดความเสียหายด้วยเกณฑ์ประเมิน ร้อยละ70 ของราคารถ

6.ทุนประกัน

ทุนประกันรถยนต์ คือ มูลค่าสูงสุดของจำนวนเงินในความคุ้มครอง ที่บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายให้กับผู้เอาประกันภัยเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับตัวรถ ในกรณีที่รถเสียหายโดยสิ้นเชิง บริษัทประกันภัยจะจ่ายตามจำนวนที่ผู้เอาประกันภัยได้ทำไว้กับทางบริษัท หรือเรียกอีกอย่างว่า การคืนทุนประกันภัย ซึ่งจะประเมินอยู่ที่ร้อยละ70 ของราคารถที่ผู้เอาประกันภัยได้ในอยู่ในขณะนั้น

7.พ.ร.บ.

พ.ร.บ. ก็คือ ประกันรถยนต์ภาคบังคับที่มีขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ ปี 2535 มีขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้ขับขี่ในเบื้องต้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น หากผู้ขับขี่ขับรถโดยไม่มี พ.ร.บ. จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย โดยจะถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท โดยพ.ร.บ. จะมีอายุคุ้มครองเป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ทำ และใช้การต่ออายุ พ.ร.บ.แบบปีต่อปีเท่านั้น โดยระบุเงื่อนไขไว้ว่าหากต้องการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี พ.ร.บ.ที่ถืออยู่ต้องมีอายุอย่างน้อย 90 วัน

 

ขอบคุณข้อมูล : วิริยะประกันภัย