SME รู้หรือไม่? กิจการไหนต้องจดและไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์


การดำเนินธุรกิจเกิดการซื้อขายสินค้า เรื่องหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการจดทะเบียนพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำธุรกิจต่อไปในระยะยาว

ลองคิดดูว่าการนำเสนอสินค้า และบริการออกไปสู่สาธารณะ ย่อมต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค ดังนั้น การจดทะเบียนพาณิชย์ จะเป็นเครื่องหมายการันตีในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับในส่วนของการเจรจาธุรกิจ หาพาร์ทเนอร์ คงไม่มีคู่เจรจาคนไหนอยากพูดคุยกับธุรกิจที่ไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่สามารถตรวจสอบได้ และมีความเสี่ยงที่จะเป็นการหลอกลวง กลับกันหากธุรกิจมีการจดทะเบียนพาณิชย์จะสามารถตรวจข้อมูลได้ ทั้งในส่วนของโครงสร้างผู้บริหาร งบการเงิน รวมถึงผลประกอบการที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนพาณิชย์นั้นจะแบ่งเป็นกิจการที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ และกิจการที่ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ซึ่งแต่ละหัวข้อจะมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างนั้น มาดูกันเลย

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยรายละเอียดการจดทะเบียนพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 พบว่า ผู้ที่มีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์จะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มด้วยกัน คือ 1.บุคคลธรรมดาคนเดียว (กิจการเจ้าของคนเดียว) 2.ห้างหุ้นส่วนสามัญ 3.นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่มาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย 4.ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด และ 5.บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด

สำหรับกิจการค้าที่เป็นพาณิชยกิจที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ คือบุคคลธรรมดา (กิจการเจ้าของคนเดียว) ห้างหุ้นส่วนสามัญ และนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่มาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย โดยหากประกอบกิจการดังต่อไปนี้ต้องจดทะเบียนพาณิชย์

  • ผู้ประกอบกิจการโรงสีข้าวและโรงเลื่อยที่ใช้เครื่องจักร
  • ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่าง คิดรวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งขายได้เป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือมีสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อขายมีค่ารวมทั้งสิ้นเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป
  • นายหน้าหรือตัวแทนค้าต่างซึ่งทำการเกี่ยวกับสินค้าไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม และสินค้านั้นมีค่ารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป
  • ผู้ประกอบกิจการหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรมไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม และขายสินค้าที่ผลิตได้ คิดราคารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไปหรือในวันหนึ่งวันใดมีสินค้าที่ผลิตได้มีราคารวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป
  • ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางทะเล การขนส่งโดยเรือกลไฟหรือเรือยนต์ประจำทาง การขนส่งโดยรถไฟ การขนส่งโดยรถราง การขนส่งโดยรถยนต์ประจำทาง การขายทอดตลาด การรับซื้อขายที่ดิน การให้กู้ยืมเงิน การรับแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การซื้อหรือขายตั๋วเงิน การธนาคาร การโพยก๊วน การทำโรงรับ จำนำ และการทำโรงแรม
  • ขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดีทัศน์ แผ่นวีดีทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดีทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
  • ขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี
  • ซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
  • บริการอินเทอร์เน็ต
  • ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
  • บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
  • การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเทอร์เน็ต
  • การให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
  • การให้บริการเครื่องเล่นเกมส์
  • การให้บริการตู้เพลง
  • โรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีก การค้าส่งงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้าง

ส่วนห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด หากประกอบกิจการดังต่อไปนี้ต้องจดทะเบียนพาณิชย์

  • ขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดีทัศน์ แผ่นวีดีทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดีทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
  • ขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี
  • ซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครื่องข่ายอินเทอร์เน็ต
  • บริการอินเทอร์เน็ต
  • ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
  • บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
  • การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเทอร์เน็ต
  • การให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
  • การให้บริการเครื่องเล่นเกมส์
  • การให้บริการตู้เพลง

โรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการทำหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีกการค้าส่งงาช้าง และผลิตภัณฑ์จากงาช้าง

นอกจากนี้ ยังมีพาณิชยกิจที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ได้แก่

การค้าเร่ การค้าแผงลอย

  • พาณิชยกิจเพื่อการบำรุงศาสนาหรือเพื่อการกุศล
  • พาณิชยกิจของนิติบุคคลซึ่งได้มีพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
  • พาณิชยกิจของกระทรวง ทบวง กรม
  • พาณิชยกิจของมูลนิธิ สมาคม สหกรณ์
  • พาณิชยกิจของกลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนตาม ปว.141 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2515

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
• รู้หรือไม่? ธุรกิจอะไรต้องเสียภาษี และธุรกิจอะไรไม่ต้องเสียภาษี https://www.smartsme.co.th/content/242603