เจาะลึก! เรื่องที่ควรรู้ของ Kerry ในวันที่ธุรกิจเตรียมเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์


ช่วงปลายปีแบบนี้เรื่องที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการขนส่งพัสดุในประเทศไทย คงหนีไม่พ้นการที่ Kerry Express เตรียมระดมทุนเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่น่าจับตามองในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และอีคอมเมิร์ซไทย ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันในตลาดที่มีความรุนแรงจากผู้เล่นหลากหลายแบรนด์ที่เข้ามาลงแข่งในสมรภูมินี้

แน่นอนว่าการ IPO คือการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ที่สนใจอยากร่วมทุนเป็นครั้งแรก ซึ่งเงินที่ระดมได้นั้นธุรกิจก็จะนำไปลงทุน ขยายกิจการ และตอบแทนกลับมาเป็นผลกำไรให้กับผู้ซื้อหุ้นในท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม หากใครอยากลงทุนเรื่องที่ควรรู้คือภูมิหลังของบริษัทที่สนใจว่าที่ผ่านมาพวกเขาดำเนินธุรกิจอะไร ผลประกอบการที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง ตลอดจนกิจการที่ธุรกิจดำเนินการมองไปในอนาคตข้างหน้ามีโอกาสเติบโตหรือไม่

เหล่านี้ คือข้อมูลประกอบการตัดสินใจ พร้อมทั้งนำมาวิเคราะห์ก่อนเลือกซื้อหุ้นของบริษัทที่นำมาเสนอขายเพื่อไม่ให้พลาดต้องมาเจ็บตัวภายหลัง

สำหรับในบทความนี้ เราพามาทำความรู้จักกับ Kerry Express ว่าธุรกิจมีประวัติที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง โดยแบ่งหัวข้อออกเป็นประเด็นดังต่อไปนี้

Kerry Express มาจากไหน

Kerry Express มีต้นกำเนิดมาจากฮ่องกง โดยเป็นบริษัทในเครือของ Kerry Logistics Network Limited บริหารงานโดยตระกูล Kuok ที่มีธุรกิจในมือหลากหลาย เช่น โรงแรมแชงกีลา, สื่อ SCMP, อสังหาริมทรัพย์, ขนส่งสินค้า เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย Kerry Express ดำเนินงานโดยใช้ชื่อ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 ปัจจุบันมีจุดให้บริการกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศไทย โดยมีบริการจัดส่งพัสดุด่วนอย่างการจัดส่งภายในวันถัดไป (ND) ซึ่งครอบคลุมกว่า 99.9% ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ และกว่า 97% ของการจัดส่งประสบความสำเร็จในการเข้าจัดส่งตั้งแต่ครั้งแรก

กลยุทธ์ทำการตลาด

กลยุทธ์การทำการตลาดของ Kerry นั้นในช่วงแรกของการเปิดให้บริการ คือการมีสาขาที่ครอบคลุมรองรับความต้องการส่งสินค้าของลูกค้า หรืออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ให้ผู้คนเห็นสาขาของ Kerry มากที่สุด ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกลเหมือนเมื่อก่อน

 

 

ดังนั้น ช่วงเวลาที่ผ่านมา เราจึงเห็นสาขาของ Kerry ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากเดิมในปี 2561 ที่มีสาขาให้บริการ 1,000 จุด ถูกเพิ่มมาเป็น 2,500 จุด และมีมากกว่า 10,000 จุดในปัจจุบัน อาจจะกล่าวได้ว่าการมีสาขาให้บริการที่มากขึ้นส่งผลให้ Kerry ถูกเลือกให้กลายเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของผู้ที่ต้องการส่งสินค้า พัสดุ ดูได้จากจำนวนพัสดุที่ถูกจัดส่งในแต่ละปีที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

  • ปี 2560 จัดส่งพัสดุรวม 71 ล้านชิ้น
  • ปี 2561 จัดส่งพัสดุรวม 173 ล้านชิ้น
  • ปี 2562 จัดส่งพัสดุรวม 274 ล้านชิ้น
  • ปี 2563 (ม.ค.-ก.ย) จัดส่งพัสดุรวม 223.9 ล้านชิ้น

นอกจากนี้ Kerry ยังเพิ่มบริการทางเลือกให้กับลูกค้า เช่น บริการเรียกเก็บเงินปลายทาง (COD), ให้ลูกค้าสามารถชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และบัตรเดบิต ที่หน้าบ้านได้เลย

ไม่พียงเท่านั้น Kerry บริการผ่านทางตู้ล็อกเกอร์ตามอาคารสำนักงานและคอนโดมิเนียม ซึ่งจุดให้บริการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ลูกค้าและร้านค้าขนาดเล็กในกรุงเทพฯ สามารถส่งสินค้าไปยังครอบครัว เพื่อน ลูกค้า และบริษัทคู่ค้าในประเทศไทยได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

ผลประกอบการของ Kerry ดีหรือไม่?

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียน 890,000,000 บาท โดยผลประกอบการย้อนหลัง มีดังต่อไปนี้

  • ปี 2560 รายได้ 6,626.41 ล้านบาท กำไรสุทธิ 730.26 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 13,565.35 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,185.10 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้ 19,781.93 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,328.55 ล้านบาท

ยื่น IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า Kerry จะเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ โดยตั้งเป้าระดมทุนสูงสุด 8.4 พันล้านบาท เปิดขายจำนวน 300 ล้านหุ้น หุ้นละ 28.00 บาท ซึ่งก็มีผู้ที่สนใจเข้าเลือกซื้อจับจองกันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8-18 ธ.ค.

 

 

หากจะถามว่าหุ้นของ Kerry มีความน่าสนใจลงทุนหรือไม่ คำตอบคือน่าสนใจอยู่ไม่ใช่น้อย โดยข้อมูลจากสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซคือหนึ่งในธุรกิจมาแรงในประเทศไทย โดยมีมูลค่าราว 748,000 ล้านบาท เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน นับตั้งแต่ปี 2560-2562 เติบโตเฉลี่ยปีละ 20-30% สอดคล้องกับรายงานผลสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ปี 2562 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ที่เผยว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จากปี 2561 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 3,767,045 ล้านบาท ขณะที่ปี 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 4,027,277 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2561 กว่า 6.911 %

ขณะที่สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจแบบ B2C ในกลุ่มประเทศภูมิอาเซียน พบว่าประเทศไทย เข้าป้ายมาเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่าอีคอมเมิร์ซเติบโต 46.51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่หันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวเพิ่มช่องทางการขายผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต