เตรียมตั้งการ์ด! SME ต้องรับมืออย่างไรกับการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19


ดูเหมือนว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยระลอกใหม่จะกลับมาอีกครั้งแล้ว จากจุดเริ่มที่ตลาดค้ากุ้งในจังหวัดสมุทรสาคร ที่พบผู้ติดเชื้อทั้งที่เป็นคนไทย และแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา ที่มีความเกี่ยวข้องในพื้นที่มากกว่า 821 ราย จนทำให้ต้องมีการประกาศล็อกดาวน์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แน่นอนว่าจากจุดเริ่มต้นที่จังหวัดสมุทรสาครได้แพร่กระจายออกไปสู่วงกว้าง ดูได้จากตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อในจังหวัดอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องเดินทางไปในพื้นที่ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากสถานการณ์ตอนนี้ทำให้หลายคนเริ่มมีความกังวลว่าจะนำไปสู่การล็อกดาวน์อีกครั้งเหมือนที่ผ่านมาอีกหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว, โรงแรม, ร้านอาหาร, ขายสินค้า ที่อาจได้รับผลกระทบหากเกิดเรื่องที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการ SME เราไม่อาจรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า แต่สิ่งที่สามารถทำได้ คือการเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เพื่อให้กิจการเจ็บตัวน้อยที่สุด และยังดำเนินการสร้างรายได้ต่อไปได้

ดังนั้น เรามาดูวิธีรับมือกันว่า หากไวรัสโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ SME ต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไรบ้าง

1.ปฏิบัติตามมาตรการภาครัฐฯ อย่างเคร่งครัด

ที่ผ่านมาทางภาครัฐได้ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาแล้วก่อนหน้านี้ แต่ด้วยสถานการณ์ที่ค่อนข้างดีขึ้นในช่วงระยะหลัง ทำให้อาจเกิดความชะล่าใจในบางครั้ง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอาจจะต้องเข้มงวดกับมาตรการป้องกันนี้ให้เข้มข้นมากกว่าเดิม โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร, โรงแรม, สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็น การตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าใช้บริการ, การให้ลูกค้าสวมหน้ากากอนามัยตลอด, การเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ให้แออัดมากจนเกินไป, มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ, การหมั่นทำความสะอาดพื้นที่อยู่เป็นประจำ ตลอดจนการให้ลูกค้าสแกนแอปฯ ไทยชนะ เวลาเข้าใช้งาน

2.เพิ่มทางเลือกการขายสินค้า

ชั่วโมงนี้การขายสินค้าแบบมีหน้าร้านเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ตอบโจทย์สำหรับการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล ลองคิดดูว่า หากผู้ประกอบการมีหน้าร้านที่ขายสินค้าตามห้างสรรพสินค้า แล้วเกิดกรณีล็อกดาวน์ ก็จะทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ รายได้ขาดหาย

ดังนั้น การเพิ่มช่องทางการขายสินค้าใหม่ ๆ จึงไม่ใช่เรื่องน่าเสียหาย เช่น ผู้ประกอบการขายสินค้าอุปโภค/บริโภค อาจผ่านช่องทางออนไลน์/แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ หรือหากขายอาหารอาจเพิ่มแอปฯ บริการส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ

3.มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน

กรณีนี้คล้ายกับเวลาที่เราต้องตกงาน หรือเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน โดยจะต้องมีเงินสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินไว้ 3-6 เดือน ซึ่งคำนวณจากรายจ่ายที่ใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือน เช่นเดียวกับผู้ประกอบการที่ต้องมีเงินสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉินเช่นกัน หากวันไหนธุรกิจต้องหยุดให้บริการชั่วคราว ก็ยังเชื่อมั่นว่ายังไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไหร่นัก

นอกจากนี้ อาจจะรวมถึงการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือลดการใช้ทรัพยากร เพื่อลดต้นทุนเก็บเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉินต่อไป

4.สต๊อกสินค้าเท่าที่จำเป็น

แน่นอนว่าหากเกิดการล็อกดาวน์ หรือจำกัดการเปิดร้านบริการ ย่อมส่งผลกระทบต่อสต๊อกสินค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจร้านอาหาร ในวัตถุดิบประกอบอาหาร หากไม่สามารถผลิตได้หมดอาจเกิดการเน่าเสีย ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจต้องมานั่งคำนวณ บริหารสต๊อกให้มีคุณภาพสูงสุด

ทั้งนี้ ผลกระทบขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจที่ผู้ประกอบการดำเนินกิจการอยู่ ซึ่งหากมีการเตรียมแผนรับมือไว้ก็อาจจะผ่อนหนักให้กลายเป็นเบา และผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้