สาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจชะลอตัว และวิธีการรับมือเพื่อเอาตัวรอด


เศรษฐกิจทุกวันนี้แทบจะเข้าขั้นวิกฤตแล้วก็ว่าได้ บริษัทหลายต่อหลายที่ปิดตัวลง บางที่ยังพอพยุงตัวอยู่ได้แต่ก็ไม่ได้ผลประกอบการตามที่คาดหวัง ธุรกิจเริ่มชะลอตัว คุณกำลังประสบปัญหานี้อยู่หรือไม่

วันนี้เราขอพาไปดูสาเหตุว่าทำไมธุรกิจของคุณถึงชะลอตัว แล้วจะรับมือเพื่อให้ธุรกิจของคุณอยู่รอดได้อย่างไร

สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจชะลอตัว

วิกฤตโควิด 19
ถึงแม้ว่าตอนนี้บ้านเราจะผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 มาได้สักระยะนึงแล้ว แต่อย่าลืมว่าตอนที่โควิดระบาดใหม่ๆ สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจเอาไว้เป็นอย่างมาก กระทบตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ไปจนร้านค้าข้างทาง ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ เกิดการชะลอตัวมาจนถึงทุกวันนี้ ยิ่งธุรกิจใหญ่ก็ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนาน

สภาพเศรษฐกิจโดยรวม
สภาพเศรษฐกิจโดยรวมเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจเกิดการชะลอตัว สังเกตง่ายๆ จากช่วงโควิดที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ใช้จ่ายกันอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซื้อของกันน้อยลง เลือกซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น ทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบไปถึงธุรกิจต่างๆ บางบริษัทขายของไม่ได้จนต้องปิดตัวไปก็มี

กระแสของสินค้า
กระแสเป็นปัจจัยหลักๆ ในการเลือกสินค้าหรือบริการของผู้บริโภค สังเกตได้เลยว่า สินค้าอะไรก็ตามที่เป็นกระแสจะขายได้ดีเป็นพิเศษ มีการต่อคิว จองคิวเพื่อซื้อหรือรับบริการนั้นๆ เช่น ปาท่องโก๋การบินไทย ช่วงที่เป็นกระแสต้องไปต่อคิวซื้อกันตั้งแต่ตี 3 แต่พอกระแสเริ่มซาลง สินค้าเริ่มหาซื้อได้ง่ายขึ้น คนก็จะสนใจน้อยลง ทำให้ธุรกิจที่เคยเป็นกระแสเกิดการชะลอตัว ยิ่งทุกวันนี้กระแสเป็นอะไรที่มาไวไปไว ช่วงที่กอบโกยได้ต้องรีบกอบโกยเอาไว้ก่อน

ช่วงเวลา หรือฤดูกาล
นอกจากกระแสแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่ผู้บริโภคใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อนั่นก็คือช่วงเวลา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะแบ่งออกเป็นฤดูกาลตามไตรมาส เช่น ธุรกิจเสื้อผ้า เสื้อกันหนาว จะขายดีในช่วงฤดูหนาว ธุรกิจผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จะขายดีในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวเป็นต้น บริษัทหรือธุรกิจที่มีสินค้าหน้าเดียวจะเกิดการชะลอตัวอย่างแน่นอน หากรู้ว่าเป็นเช่นนั้นสิ่งที่ควรทำคือ หาสินค้าที่รองรับฤดูกาลอื่นๆ มาขายด้วย เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี

การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย
มีธุรกิจหลายชนิดที่ต้องชะลอ หรือหยุดชะงักทันทีเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย เมื่อก่อนอาจจะซื้อขายได้กันเป็นปกติ แต่ปัจจุบันกฎหมายสั่งห้ามจำหน่าย ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีส่วนผสมของสารเคมีบางชนิด ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้ส่งผลแค่กับเจ้าของธุรกิจเพียงอย่างเดียว ยังส่งผลต่อผู้บริโภคอีกด้วย

วิธีการรับมือเพื่อเอาตัวรอดเมื่อธุรกิจเริ่มชะลอตัว
ลดการลงทุนต่างๆ
ในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำ บริษัทเกิดการชะลอตัว สิ่งที่ควรทำคือหลีกเลี่ยงการลงทุนต่างๆ ที่มีความเสี่ยงและต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก เช่น การสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ เพื่อเก็บเงินลงทุนสำรองเอาไว้ยามเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
ข้อนี้ไม่ใช่แค่เพียงบริษัท แต่ทุกคนควรจะทำในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ ควรใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ลดค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ ที่รู้สึกว่าไม่จำเป็นออกไป ซึ่งต้องแยกให้ออกระหว่างความเคยชินกับความจำเป็น ของบางอย่างที่ต้องซื้อเป็นประจำบางทีเมื่อมองดีๆ อาจไม่ใช่สิ่งของที่จำเป็นก็ได้ แต่ก็ไม่ควรลดมากเกินจนกระทบต่อการทำงาน

ลดขนาดองค์กรให้เล็กลง
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่อยากให้ทำเป็นอันดับท้ายๆ อยากให้ลองหาวิธีอื่นก่อน แต่เมื่อถึงยามคับขัน บริษัทประสบปัญหาที่ไม่ไหวแล้ว การลดขนาดองค์กรก็เป็นอีกทางออกที่จะช่วยให้อยู่รอดได้ ไม่ตายไปทั้งหมด

ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ
การติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ตลอด จะทำให้คุณรู้เท่าทันและรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดได้ดียิ่งขึ้น ทำให้คุณรู้ว่าคุณควรจะทำอย่างไรต่อไปให้บริษัทอยู่รอด

เชื่อว่าไม่ว่าจะบริษัทใหญ่หรือบริษัทเล็กต่างก็เจอผลกระทบด้วยกันทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะมากหรือน้อย และรับมือกับสิ่งเหล่านั้นได้ดีเพียงใด เชื่อว่าหากคุณเตรียมการรับมืออย่างดี พร้อมอยู่ตลอดเวลา จะทำให้ธุรกิจของคุณอยู่รอดต่อไปได้