จับสัญญาณกู้ชีพโรงภาพยนตร์ “Major – SF” บนวิกฤตโควิด-19 รอบใหม่


สถานการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 แม้จะยังไม่กระทบเป็นวงกว้างแต่ภาคธุรกิจก็ไม่สามารถปฏิเสธปัจจัยเสี่ยงที่มากับ ”ความกังวล” ของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะธุรกิจโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดและเพิ่งเริ่มกลับมาให้บริการได้อีกครั้งในเดือนมิถุนายน

ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าธุรกิจโรงภาพยนตร์กำลังค่อย ๆ Take off ขึ้น ภายใต้โจทย์ใหม่ที่ท้าทายยิ่งขึ้น เพราะยุทธศาสตร์บนสนามการแข่งขันจากนี้เป็นต้นไป คือการบริหาร จัดการกับ “ความไม่แน่นอน”

 

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก MajorGroup

 

ดันป็อปคอร์น-สื่อโฆษณา รับมือ Covid19

ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ครั้งไหนโรงภาพยนตร์ไม่เคยปิดให้บริการ แต่ โควิด-19 ทำให้กว่า 800 โรงต้องงดให้บริการถึง 75 วัน และเมื่อเปิดให้บริการได้ยังต้องเป็นไปตามมาตรการเว้นระยะห่างซึ่งจะขายที่นั่งได้ 25% ภาระรับต้นทุนที่ต้องแบกรับจึงมหาศาล ในภาวการณ์สาหัสนี้ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ตัดสินใจพลิกสถานการณ์จากที่ผู้ใช้บริการจะเข้ามาในโรงภาพยนตร์ มาเป็นการนำความบันเทิงในโรงภาพยนตร์ออกนอกพื้นที่เพื่อไปหาผู้ใช้บริการแทน

เริ่มจากการนำเอาวัฒนธรรมป็อปคอร์นออกให้บริการในชื่อ “Major Delivery” ส่งถึงที่ผ่านแอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่อย่างแกร็บ ฟู้ด,ไลน์แมนxวงใน และฟู้ดแพนด้า จาก 5 สาขาสแตนด์อะโลน เช่น ปิ่นเกล้า, สุขุมวิท-เอกมัย, รัชโยธิน, รังสิต, งามวงศ์วาน-แคราย เป็นการสร้างบรรยากาศให้ผู้บริโภคไม่ลืมโรงภาพยนตร์แม้ว่าจะต้องกักตัวอยู่ที่บ้านก็ตาม

 

 

นอกจากนี้ เมเจอร์ ยังประคับประคองรายได้จากสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ ซึ่งปกติจะมีสัดส่วนรายได้ 15% จากรายได้ทั้งหมด โดยปรับรูปแบบให้เป็น Performance Media เพื่อตอบโจทย์ให้มากกว่า Brand awareness แต่เพิ่มยอดขายได้โดยตรงและรวดเร็วด้วยกลยุทธ์ On Ground Activation ในลักษณะผสมผสานภาพยนตร์เข้ากับความบันเทิงรูปแบบอื่น ๆ นอกจากนี้ยังเป็นสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับการชมภาพยนตร์ในสถานทีที่แปลกใหม่

เช่นในเทศกาลฮาโลวีน ซึ่งจัดกิจกรรม Amazing Thailand Major Cineplex Drive-in Theater: Haunted Park presented By Toyota โดยร่วมกับพันธมิตรอย่าง โตโยต้า ซึ่งเป็นการรับชมภาพยนตร์เรื่องสวนสนุกนี้ผีจองเวร โดยก่อนชมจัดกิจกรรมเปิดสัมผัสที่หกรับประสบการณ์สยองขวัญแม้นั่งอยู่ในรถยนต์ส่วนตัวภายใต้บรรยากาศสวนสนุกสุดสยอง และตื่นเต้นกรีดร้องไปกับการโจมตีจากพวกผีที่อยู่นอกรถ

หรือก่อนหน้านี้ที่เมเจอร์ได้จัดกิจกรรม Major Cineplex Drive-In Theater @CentralFestival EastVille Drive-in หรือ Chang-Major Movie Playground ในตอน Oversize ความสุขมาสนุกกับเพื่อน นี้ ณ มายา สเปซ พัทยา รวมถึง“Chang-Major Movie on the Beach” และ“Chang-Major Movie on the Hill” ที่เมเจอร์ได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการร่วมกิจกรรมจะจำหน่ายสินค้าหรือสร้างกิจกรรมร่วมกันระหว่างแบรนด์ที่เข้ามาสนับสนุน

เปิดโมเดล 3T Strategy ลด“เสี่ยง”จากความไม่แน่นอน

สถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้เมเจอร์ เรียนรู้ถึงความไม่แน่นอน ดังนั้นเพื่อรับมือกับความเสี่ยงในปี 2564 “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป” ได้ประกาศ Business Model ใหม่ด้วยกลยุทธ์ “3T” เพื่อผลักดันให้การเติบโตให้กลับมาโตแบบ “V Shape” ประกอบด้วย

1.Thai Movie ขยายการลงทุนในภาพยนตร์ไทย ซึ่งเมเจอร์มีฐานธุรกิจด้าน Content Provider ด้วยการร่วมทุนสร้างภาพยนตร์อยู่แล้ว และคอนเทนต์เหล่านี้สามารถนำมาต่อยอดขายในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งได้ ซึ่งทั้งสองช่องทางจะทำให้เมเจอร์มีฐานรายได้จากส่วนแบ่งกำไรในฐานะผู้สร้างซึ่งจะเข้ามาเสริมรายได้หลักจากการขยายตั๋วชมภาพยนตร์ โดยปี2564 จะผลิตภาพยนตร์ไทยเพิ่มขึ้นเป็น 20 กว่าเรื่อง จาก 6 ค่ายจากที่ผ่านมาผลิตปีละ 10 – 12 เรื่อง

2. Technology ขับเคลื่อนด้วยนโยบาย Major 5.0 เพื่อยกระดับองค์กรสู่ “Total Digital Organization” จะลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 – 200 ล้านบาทในการนำเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์บริการแบบไร้สัมผัส เช่น การนำตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ E Ticket ที่ร่วมกับ KBTG และกสิกรไทย พัฒนาขึ้นมาใช้เป็นรายแรกและเตรียมต่อยอดสู่การเป็น Seamless Ticket ด้วยการซื้อตั๋วผ่านแอปฯ และนำมาสแกนที่ตู้ เพื่อเข้าชมภาพยนตร์ได้ทันที

พัฒนาบัตรเงินสด M Cash เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงการชมภาพยนตร์ได้ง่ายขึ้นโดยเปิดขายตั๋วผ่านพาร์ทเนอร์ ทุกธนาคาร และระบบ Payment ต่างๆ พร้อมกับยกระดับแอปพลิเคชันเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ให้เป็น Super App เพื่อเป็นช่องทางขายตั๋วผ่าน Mobile Ticketing 100% ทั้งนี้เพื่อปรับสู่ Cashless ทั้งระบบรวมถึงนำระบบ AI & ML ในลักษณะ Movie Recommendation Engine เข้ามาพัฒนาโปรโมชั่นที่ตรงในแบบ Personalization หรือ One-on-One Offering เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าที่แตกต่างกัน เป็นต้น

3. Trading หลังจากทดลองจำหน่ายป๊อปคอร์นในช่องทาง Delivery,ในงานอีเว้นท์และ มาร์เก็ตเพลสอย่างช้อปปี้ ทำให้ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ มองถึงการข้ามไลน์ เข้าสู่ค้าปลีกด้วยการเปิดตัว “ป๊อปคอร์น พรีเมียม POPSTAR” 3 รูปแบบคือ แบบซอง, แบบเข้าไมโครเวฟ, และป๊อปคอร์นบรรจุกระป๋อง โดยจะจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรดที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้จากป๊อปคอร์น มีกว่า 30 % จากรายได้รวมของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โดยปี 2562 มียอดขาย 2,000 กว่าล้านบาท จากช่องทางเดียวคือโรงภาพยนตร์ 172 สาขา

 

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก : SFcinema

 

SF สู้ภัย Covid19 ทำโรงหนังให้อยู่ในไลฟ์สไตล์

สำหรับเอสเอฟ ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับสองในธุรกิจโรงภาพยนตร์ ตัดสินใจสู้กับอุปสรรคครั้งใหญ่ด้วยการทำให้โรงภาพยนตร์ยังอยู่ในไลฟ์สไตล์ของคนรักภาพยนตร์ เช่น ส่งป๊อปคอร์นเดลิเวอรี่, เปิดช็อปจำหน่ายสินค้าจากภาพยนตร์ยอดนิยม, พัฒนาแอปพลิเคชันตอบโจทย์เพื่อให้การชมภาพยนตร์ สะดวก ปลอดภัย จองได้ทุกที่ทุกเวลา และสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ เช่น ดูหนังในรถยนต์ หรือในสถานที่ใหม่

 

 

ขณะที่ช่วงการกลับมาขายที่นั่งได้เพียง 25% นาทีเอสเอฟใช้ทุกวิธีที่จะดึงผู้บริโภคกลับเข้ามาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการยืนระยะฉายให้นานเป็นเดือน จากเดิม 2 สัปดาห์ส่วนจำนวนรอบฉายลด 2 รอบต่อวัน จาก 4-5 รอบต่อวันหรือการนำภาพยนตร์เก่าซึ่งหาดูยากกลับมาฉาย เพื่อดึงคนที่ไม่ได้ดูหนังในโรงภาพยนตร์มานานกลับมาดูอีกครั้ง

สร้างประสบการณ์ใหม่แบบ SF ต้อง WIN-WIN

กลยุทธ์ของเอสเอฟที่ส่งให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องคือความแตกต่าง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในการชมภาพยนตร์ขนานไปกับการใช้การตลาดแบบ Naming Sponsor เช่น Emprive Cineclub, CAT First Class Cinema, MasterCard Cinema, Zigma CineStadium, Happiness Cinema และ MX4D ซึ่งจะตอบโจทย์แบบ win win ทั้งผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ และพันธมิตร

ล่าสุดเปิดประสบการณ์นอนชมภาพยนตร์ใน The Bed Cinema by Omazz ที่เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งนำเตียงนอนคุณภาพสูงมาใช้ในโรงภาพยนตร์และออกแบบให้มีบรรยากาศเสมือนพักผ่อนอยู่ในบ้านสไตล์ Modern Luxury เริ่มจากให้บริการเลานจ์ ในอารมณ์ของห้องนั่งเล่น บริการเครื่องดื่ม ป๊อปคอร์น ก่อนเข้าชม

โดยภายในโรงภาพยนตร์มี 40 เตียงนอน เพื่อความเป็นส่วนตัวที่สุด มีขนาดเตียงให้เลือกรวมถึงออกแบบตำแหน่งมุมมองให้เหมาะสมกับการชมภาพยนตร์ทุกที่นั่ง คิดค่าบริการเริ่มต้น 900 บาทโดยทุกรอบฉายจะมีการเปลี่ยนผ้าปูที่นอนเพื่อความสะอาด ปลอดภัย ควบคู่กับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงภาพยนตร์ตามมาตรฐานสากล

นอกจากนี้จัดให้มีโมเดลพิเศษรูปแบบต่างๆร่วมพันธมิตรเช่น ร่วมกับเดอะมอลล์จัด “Pool Cinema Party” สร้างประสบการณ์ชมภาพยนตร์กลางน้ำบนสวนน้ำชั้นดาดฟ้าครั้งแรกในไทยในภาพยนตร์เรื่อง “Happiest Season ไม่มีฤดูไหนไม่รักเธอ” จากที่ก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT Telecom) จัด “CAT Drive-in Cinema”