หากพูดถึงร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven หลายคนคงนึกถึงร้านค้าที่มีสินค้าให้เลือกซื้ออย่างมากมายเรียกได้ว่าตั้งแต่สากเบือยันเรือรบเลยทีเดียว ด้วยจุดแข็งภายใต้สโลแกน “ใกล้และสะดวก” จึงทำให้เป็นร้านสะดวกซื้อที่ครองใจ และเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสโลแกนดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากกับร้าน 7-Eleven ในญี่ปุ่น จนต้องมีการปรับกลยุทธ์เน้นไปที่การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
Ryuichi Isaka ประธาน Seven & i Holdings กล่าวกับ Nikkei Asia ว่าการโฟกัสไปที่ช่องทางออนไลน์คือความท้าทายของผู้ค้าปลีกที่จะนำเสนอบริการ และตอบสนองความต้องการไปยังผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด โดยบริษัทต้องนำเสนออะไรบางอย่างที่มากกว่าร้านค้าแบบดั้งเดิม
ปฏิเสธไม่ได้ว่า 7-Eleven คือร้านสะดวกซื้อที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในญี่ปุ่น โดยมีมากกว่า 21,000 สาขาทั่วประเทศ สร้างยอดขายเฉลี่ย 5 ล้านล้านเยนต่อปี เหนือกว่าคู่แข่งไม่ว่าจะเป็น Lawson ที่มีสาขา 14,444 แห่ง สร้างยอดขาย 2.5 ล้านล้านเยนต่อปี และ FamilyMart ที่มีสาขา 16,656 แห่ง สร้างยอดขาย 5.17 แสนล้านเยนต่อปี
สำหรับจุดเด่นของร้าน 7-Eleven ในประเทศญี่ปุ่น คือการมีขนาดพื้นที่ 200 ตารางเมตร หรือเล็กกว่านั้น โดยภายในร้านอัดแน่นไปด้วยสินค้าอุปโภค-บริโภค, แมกกาซีน, แอลกอฮอล์, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย, เนกไท ตลอดจนตู้ ATM, เครื่องถ่ายเอกสารที่สามารถออกใบรับรองภาษี หรือเอกสารทางราชการ ด้วยบริการที่ครบครันเหล่านี้จึงทำให้ร้าน 7-Eleven เป็นร้านสะดวกซื้อที่ขาดไม่ได้ของชาวญี่ปุ่น
อีกทั้งความใกล้ชิดกับลูกค้าที่มาใช้บริการก็เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้ 7-Eleven สามารถครองใจผู้บริโภคได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และไม่มีทางจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอย่างที่เคยเป็น
Ryuichi Isaka มองว่าธุรกิจต้องหันไปกระตุ้นผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจแบบเดิม ๆ อย่างที่เคยมีมา โดยเรากำลังพิจารณาสร้างระบบเพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
“เราวาดฝันที่จะเห็นศูนย์รวมการส่งสินค้าโลจิสติกส์ของบริษัทในเครือ เพื่อให้รู้ยอดการสั่งซื้อภายในพื้นที่เดียว รวมถึงการกำหนดสินค้าแบบไดนามิกเพื่อเสนอราคาจัดส่งสินค้าที่ลดลงเมื่อมีความต้องการต่ำ” Ryuichi Isaka กล่าว
สำหรับลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าของร้าน 7-Eleven ผ่านระบบออนไลน์จะมีวิธีรับสินค้า 3 ทางเลือกด้วยกัน คือ 1.เดลิเวอรี่ถึงที่พัก 2.เลือกรับสินค้าที่ร้าน และ 3.รับที่ตู้ล็อกเกอร์ติดตั้งตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น สำนักงาน, อะพาร์ตเมนต์ เป็นต้น
มีการมองว่าโมเดลธุรกิจนี้มีความคล้ายคลึงกับ Walmart ที่ให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และไปรับสินที่ร้าน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่าดิจิทัลกำลังก้าวเข้ามาทำลายโมเดลร้านสะดวกซื้อให้หายออกไปจากสารบบในอนาคต แต่ Mike Allen นักวิเคราะห์จาก Jefferies Japan มองว่าเป็นเรื่องยากที่ร้านสะดวกซื้อจะประสบความสำเร็จบนออนไลน์ เนื่องจากลูกค้าจะเลือกซื้อสินค้าที่ร้านสะดวกซื้อในส่วนที่ผู้คนคิดไม่ถึง โดยเฉพาะอาหารที่มีสัดส่วนถึง 70% ของยอดขายในร้าน 7-Eleven และมักถูกรับประทานทันที ซึ่งดูแล้วเป็นเรื่องที่แตกต่างกันมาก เพราะว่าอีคอมเมิร์ซต้องซื้อตามแบบแผน
ทั้งนี้ ร้าน 7-Eleven พัฒนาธุรกิจให้เหมาะสมกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มรายได้ครัวเรือนให้สูงขึ้น และการรับมือกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน จึงทำให้แบรนด์ร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นรายนี้ต้องเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานด้วยการลดจำนวนสาขาร้านลงเป็นครั้งแรกในปี 2019
ที่มา: asia.nikkei