ทำความรู้จัก “พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์” ขายแบบนี้ ต้องเสียภาษีแบบไหน?


ปัจจุบันการขายของออนไลน์กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับการสร้างรายได้ที่ได้รับความนิยมจากผู้คนสมัยนี้เป็นอย่างมากทั้งทำเป็นอาชีพเสริม และอาชีพหลัก ให้สามารถเลี้ยงชีพได้ในยุคสมัยที่มีความไม่แน่นอนอยู่รอบตัว 

ข้อดีของการขายของออนไลน์ คือการมีต้นทุนที่ไม่สูงนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการมีหน้าร้านที่ต้องเสียค่าเช่าที่, ค่าคนงาน ตลอดจนการมองหาทำเลที่ต้องมีผู้คนพลุกพล่านเพื่อลดความเสี่ยงว่าสินค้าที่ขายจะไม่เจ๊ง แตกต่างจากการขายของออนไลน์ที่ไม่ต้องใช้เงินทุนในเรื่องการจัดการมากนัก เพียงแค่ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย, เว็บไซต์ และแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสก็สามารถดำเนินการได้แล้ว  

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ประกอบการหลายรายประสบความสำเร็จจากการขายของออนไลน์ที่ทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัว ยกระดับฐานะขึ้นมาได้ ดังนั้น อาชีพขายของออนไลน์จึงกลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจที่ไม่ควรมองข้าม

แม้ว่าการขายของออนไลน์จะมีรายได้ดี แต่ผู้ที่สนใจอยากจะเข้ามาทำธุรกิจนี้จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดให้ดีก่อน โดยเฉพาะในเรื่องของ “ภาษี” เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะตามมาภายหลัง หากปฏิบัติตามกติกาไม่ถูกต้อง และอาจถูกเก็บภาษีย้อนหลัง 

ขายของออนไลน์ต้องเสียภาษีแบบไหน

สำหรับผู้ที่ขายของออนไลน์ แต่ไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบของบริษัท จะชำระภาษีในรูปแบบของเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะถูกจัดอยู่ในประเภท 8 คือเงินได้จากการค้าขาย ซึ่งระยะเวลาการยื่นภาษีจะมี 2 ช่วงด้วยกัน คือ 1.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 (ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.) 2.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 (ช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.)  

หลักการคำนวณภาษี

  • (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

โดยอัตราการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเป็นหลักเกณฑ์ของเงินได้สุทธิต่อปี

 ทำความรู้จัก พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์

ผู้ประกอบการอาจมีความกังวลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ ที่ประกาศให้สถาบันการเงินส่งรายงานธุรกรรมให้กับกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่มีรายได้ ซึ่งมีร้านค้าออนไลน์อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่จะถูกบังคับใช้ด้วย

การตรวจสอบที่เกิดขึ้นเพื่อให้กรมสรรพากรมีข้อมูลที่จะใช้ในการจัดเก็บภาษีที่แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยข้อมูลที่ได้รับจะเป็น ชื่อ-นามสกุล, เลขประจำตัวประชาชน, เลขที่บัญชีเงินฝาก, การฝากหรือโอนเงิน, จำนวนครั้งของการฝากหรือโอนรับเงิน 

สำหรับหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ มีดังต่อไปนี้

1.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีตั้งแต่ 3,000 ครั้ง/ปี หากเกินจะโดนตรวจสอบ ไม่ว่ามูลค่าเงินจะโอนมาก-น้อย แค่ไหนก็ตาม

2.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดเงินรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาท/ปี ขึ้นไป จะต้องโดนตรวจสอบ

นั่นหมายความว่า หากผู้ประกอบการไม่เข้าเกณฑ์ที่กล่าวไปข้างต้นก็จะไม่โดนตรวจสอบ แต่ควรจะยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยหากมีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,000 บาท/ขึ้นไป ก็จะเสียภาษีตามอัตราของรายได้ที่กำหนด และหากมีรายได้มากกว้า 1.8 ล้านบาท/ปี จะต้องโดนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย 

ที่มา: กรมสรรพากร