แม้ว่า Pinduoduo ธุรกิจอีคอมเมิร์ซน้องใหม่ภายใต้การนำของ Colin Huang ผู้ก่อตั้งและซีอีโอจะกำลังดำเนินไปด้วยดีในประเทศจีน ด้วยจุดเด่นที่ขายสินค้าทุกอย่าง เรียกได้ว่าตั้งแต่สากเบือยันเรือรบ แถมราคายังถูก จึงทำให้เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก
ภาพความประสบความสำเร็จที่เห็นอย่างเด่นชัดตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ Pinduoduo ดำเนินธุรกิจ พวกเขามีตัวเลขอัตราการเติบโตที่ก้าวกระโดดอยู่พอสมควร จากเมื่อปี 2016 ที่มีสมาชิกผู้ใช้งานรายเดือนบนแพลตฟอร์มอยู่ที่ 15.0 ล้านบัญชี แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2020 พบว่าผู้ใช้งานรายเดือนทยานไปถึง 643.4 ล้านบัญชี เช่นเดียวกับรายได้ของ Pinduoduo ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยเมื่อปี 2017 ธุรกิจมีรายได้ 8,093 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2020 ธุรกิจมีรายได้ 153,222 ล้านบาท นอกจากนี้มีการประเมินว่า ปัจจุบัน Pinduoduo มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 6.6 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงของ IPO
ไม่เพียงเท่านั้น Colin Huang ผู้เป็นเจ้าของยังมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น โดยตามรายงานจาก Bloomberg Billionaires Index เผยว่าเจ้าตัวมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 63,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แซงหน้า Jack Ma และ Pony Ma ขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดอันดับ 2 ของจีนเป็นรองแค่ Zhong Shanshan เจ้าของ Nongfu Spring บริษัทน้ำดื่ม
ภาพความสำเร็จที่ต้องแลก
หากมองจากภายนอกแน่นอนว่าหลายคนคงจะนึกภาพการทำงานภายในองค์ที่มีความสุขจนสิ่งที่ทำออกมาความประสบความสำเร็จ โดยประเมินจากเม็ดเงิน รายได้ ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งเราอาจไม่รู้ว่าพนักงานภายในองค์กรของ Pinduoduo ต้องทำงานหนักกันมากแค่ไหน และกลายเป็นประเด็นดราม่าเกิดขึ้น เมื่อพนักงานของบริษัทเสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกัน
เริ่มจากพนักงานหญิงรายหนึ่งของ Pinduoduo ที่เสียชีวิตขณะเดินทางกลับบ้าน เหตุเกิดเมื่อต้นปี 2021 ต่อมาอีก 2 สัปดาห์ พนักงานตำแหน่งวิศวกรของ Pinduoduo กระโดดอพาร์ทเมนท์จากชั้น 27 เพื่อฆ่าตัวตาย ไม่เพียงเท่านั้น อดีตพนักงานของ Pinduoduo อีกราย เผยแพร่คลิปวิดีโอระยะเวลา 15 นาที โดยเนื้อหาบอกเล่าถึงระยะเวลาการทำงานของพนักงานที่มากถึง 300-380 ชั่วโมงต่อเดือน หรือตกวันละ 10-12 ชั่วโมง หลังจากนั้นไม่นานพนักงานผู้นี้ก็ได้ฆ่าตัวตาย
จากที่กล่าวมาทั้งหมด วิเคราะห์กันว่าสาเหตุที่ทำให้พนักงานของ Pinduoduo เสียชีวิตมีสาเหตุมาจากการทำงานหนักมากจนเกินไปหรือไม่ จนเกิดความเครียด ไม่มีเวลาพักผ่อน เพราะต้องหมกหมุ่นกับงานที่ได้รับมอบหมาย สุดท้ายทางออกที่ดีที่สุด คือการปลิดชีวิตตัวเอง
เรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกของ Pinduoduo แสดงความไม่พอใจออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเลิกซื้อสินค้าที่ขายในแพลตฟอร์ม, การลบแอปพลิเคชัน Pinduoduo ทิ้ง ตลอดจนการเลิกติดตาม
อย่างไรก็ตาม ทาง Pinduoduo ไม่ปล่อยเรื่องนี้ไว้ให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม ด้วยการออกมาแก้ข่าวอย่างทันควัน โดยระบุว่า บริษัทขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาในคลิปวิดีโอ พร้อมเผยสาเหตุที่พนักงานคนดังกล่าวต้องถูกไล่ออกเพราะโพสต์ข้อความดูหมิ่นบริษัทบนสื่อสังคมออนไลน์
วัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 ของบริษัทจีน
Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba เคยกล่าวในที่ประชุมของบริษัทว่า ตนไม่ได้มีความต้องการพนักงานที่มีไลฟ์สไตล์ทำงานออฟฟิศวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ต้องการพนักงานที่ทำงานแบบ 996 คือเริ่มต้นงานตั้งแต่ 09.00 น. ถึง 21.00 น. และเป็นระยะเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจในสภาวะที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง
และนี่คือการทำงานแบบ 996 ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการทำงานของบริษัทจีนส่วนใหญ่ เพราะบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเต็มไปด้วยบุคลากรที่มีฝีมือ ซึ่ง Jack Ma มองว่าความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน คือความสุข และหากคุณต้องการร่วมงานกับ Alibaba คุณต้องเตรียมพร้อมที่จะทำงานวันละ 12 ชั่วโมงต่อวันให้ได้
Work Balance ของชีวิตอยู่ตรงไหน?
เมื่อเรามองถึงวัฒนธรรมการทำงานในประเทศจีนก็จะดูออกว่าพนักงานของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำส่วนใหญ่ล้วนมีระยะเวลาการทำงานมากกว่าปกติ เพราะพนักงานทั่วไปจะเฉลี่ยเวลาการทำงานอยู่ที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่หากเป็นพนักงานของบริษัทเทคโนโลยีแล้วเรียกได้ว่าทำงานจนไม่ลืมหูลืมตาเลยทีเดียว แม้อาจจะต้องได้ค่าตอบแทนสูง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความกดดัน ความเครียด ระยะเวลาการทำงานที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว ซึ่งแน่นอนว่าพนักงานทุกคนย่อมอยากให้การทำงาน และการใช้ชีวิตทำกิจกรรมอย่างอื่นมีความ Work Balance ระหว่างกัน
ที่มา: scmp, techinasia, washingtonpost
เรื่องที่เกี่ยวข้อง