พีระพงศ์ รัตนบุรี วิศวกรชลประทานชำนาญการ สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ผู้ท้าทายสายน้ำและธรรมชาติ


ปัจจุบันอาชีพรับราชการอาจไม่ใช่งานยอดฮิตของผู้คนมากเท่าในอดีต แต่ก็มักจะพบเห็นอยู่บ่อย ๆ ว่าหากใคร ที่มุ่งมั่นอยากเอาดีในสายงานนี้ก็จะตั้งมั่นอย่างสุดใจและหนึ่งในนั้นคือคุณพีระพงศ์ รัตนบุรี วิศวกรชำนาญการชลประทานแห่งกรมชลประทาน ผู้ฝันใฝ่มาตั้งแต่ยังเด็กว่าวันหนึ่งจะต้องเข้ารับราชการและต้องทำงานในสังกัด กรมชลประทานเท่านั้นด้วย

ความฝันที่เริ่มต้นจากครอบครัว

พีระพงศ์ เป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดและ โตมาในครอบครัวเล็ก ๆ ที่มีคุณพ่อและคุณแม่รับราชการ มาทั้งชีวิต โดยคุณพ่อเป็นเกษตรอำเภอ ส่วนคุณแม่ทำงานเป็นครู ทั้งคู่ถือเป็นต้นแบบที่ทำให้เขาอยากเป็นข้าราชการ เพราะเห็นตัวอย่างจากพ่อแม่ที่ทุ่มเทรับใช้ ประชาชนมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก

ไม่เพียงแค่อยากทำงานราชการ แต่พีระพงศ์ ยังเจาะจงด้วยว่าอยากทำงานด้านการชลประทาน เริ่มต้นของเป้าหมายนี้ต้องย้อนกลับไป เมื่อ พ.ศ. 2538 ครั้งอายุเพียง 10 ขวบเท่านั้นเมื่อคุณพ่อของเขาขับรถพาครอบครัวมาเที่ยวงานแสดงเกษตรและอุตสาหกรรมโลก WORLD TECH” 95 THAILAND ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา โดยจุดที่เตะตาเขาที่สุดคือตอนไปเที่ยวอ่างเก็บน้ำลำตะคอง เขาเห็นความยิ่งใหญ่และศักยภาพของอ่างเก็บน้ำขนาดยักษ์ว่าสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้มากเพียงใด จนเกิด ความสงสัยว่าทำไมมนุษย์จึงสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ และทำอย่างไรเราถึงควบคุมธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ได้บ้าง “คำตอบที่ผมค้นพบก็คือการทำงานในกรมชลประทานและมันเป็นความฝันของผมมานับตั้งแต่นั้น”

 

 

ตั้งเป้าหมายแล้วพุ่งชน

เมื่อรู้แล้วว่าอยากเป็นอะไร พีระพงศ์จึงมุ่งมั่นเต็มที่เพื่อก้าวไปสู่หนทางที่ตั้งใจ โดยเมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมปลายที่บ้านเกิด จึงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ใน พ.ศ. 2547 และศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาเดียวกันต่อทันทีใน พ.ศ. 2551 ก่อนที่อีก 4 ปีให้หลัง จะสอบบรรจุเข้าทำงานราชการในตำแหน่งวิศวกรชลประทานปฏิบัติการได้สำเร็จตามที่มุ่งหมายไว้

เหมือนได้ปลดล็อกความฝันให้กับตนเองโดยปริยาย วิศวกรชลประทานพีระพงศ์เล่าว่าเขาสนุกกับงานมากทุกอย่างเหมือนกับที่เขาเคยวาดฝันไว้ตั้งแต่วัยเด็ก ปัจจุบันมีระพงศ์ดำรงตำแหน่งเป็นวิศวกรชลประทาน ชำนาญการ สังกัดสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา มีหน้าที่หลักคือการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในแต่ละภาคส่วน ต้อง วางแผนการเพาะปลูกพืช รวมถึงวางแผนป้องกันและ บรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำไม่ว่าจะเกิดอุทกภัยหรือภัยแล้ง และต้องควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในระดับดีเสมอ ถือเป็น งานที่ท้าทายความสามารถอยู่ตลอดเวลา

“งานนี้คือการแข่งขันกับธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ เราพยายามหาทางควบคุมสิ่งที่ดูเหมือนจะควบคุมไม่ได้ ให้สามารถควบคุมได้ เพื่อทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นครับ

 

 

ผลงานที่ภาคภูมิใจ

ผลดำเนินการที่พีระพงศ์ ตั้งใจและทุ่มเทจนเกิดเป็นความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมสร้างประโยชน์ให้กับกรมชลประทาน เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) และการพัฒนาเกณฑ์แนะนำการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 25 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่งสิ่งที่เขาปลาบปลื้มมาก ๆ คือการประกาศให้สำนักงานชลประทานที่ 1-17 นำเกณฑ์ปฏิบัติการดังกล่าวไปใช้งานอีกทั้งยังไปวางรูปแบบในการติดตามสถานการณ์น้ำให้สอดคล้องกับเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเมื่อนำไปปฏิบัติให้ผลลัพธ์ที่ออกมาดีเยี่ยม

ทั้งนี้เมื่อ พ.ศ. 2562 ยังมีการนำเทคนิควิธีการใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้และปรับปรุงเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ เพิ่มเติม โดยคราวนี้มีความยุ่งยากมากขึ้นเนื่องจากต้องจัดการกับข้อมูลของอ่างเก็บน้ำที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จ แต่ผลของการประยุกต์ใช้แบบจำลองในการสังเคราะห์ ข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ คืองานที่ออกมามีความรวดเร็ว ถูกต้องและตรงเป้าที่สุดที่เคยทำมา

 

 

งานอดิเรกลับสมอง

ชีวิตของพีระพงศ์ไม่ได้มีแต่เรื่องการทำงานเพียงอย่างเดียว เมื่อถามถึงงานอดิเรก เขาตอบทันทีว่า ชื่นชอบการอ่านและการสะสมหนังสือประวัติศาสตร์ ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงหนังสือแนวปกรณัมปรัมปราของแต่ละวัฒนธรรม

“ผมจะอ่านก่อนนอนทุกคืน เน้นว่าทุกๆ คืนเลยครับ ถึงจะนอนหลับ ไม่ก็จะอ่านเวลาเดินทางกลับบ้าน ต่างจังหวัดด้วยรถไฟ ผมซื้อและสะสมหนังสือแนวนี้ เรื่อย ๆ เพราะผมชื่นชอบกลิ่นของกระดาษเวลาอ่าน”

ผลจากการไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

สำหรับคติประจำใจที่พีระพงศ์ยึดมั่นมาตั้งแต่เด็ก คือ “พัฒนาตัวเอง ตั้งใจ คิดดี ทำดี” โดยการพัฒนาตัวเองถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำงานและการใช้ชีวิต

“หากเราไม่พัฒนาตัวเอง สักวันเราจะถูกทิ้งไว้ด้านหลังโดยไม่มีบทบาทในสังคม เมื่อพัฒนาตัวเองแล้ว ก็ต้องมีความตั้งใจ มุ่งมั่น เพื่อจะไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ส่วนการคิดดีและทำดี จะเป็นสิ่งพิสูจน์อุดมการณ์ของ ตัวเองทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิตครับ”
การเดินไปสู่หนทางที่ยึดปฏิบัติ จึงเป็นเหตุผล ที่ทำให้พระพงศ์ได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนและลูกจ้างดีเด่น พ.ศ. 2562 ระดับกรมจากการคัดเลือก ของกรมชลประทาน แน่นอนว่าเขาภูมิใจกับรางวัลนี้มาก แต่ก็ถ่อมตนว่า ตนเองนั้นยังไม่เก่งหรือประสบความสำเร็จ เทียบเท่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จำนวนมาก ที่สำคัญ หากปราศจากเพื่อนร่วมงานทุกคนช่วยกันทำงาน จนงานบรรลุตามเป้าที่วางไว้ เขาย่อมไม่มีทางได้รับรางวัลนี้