“ไทยแอร์เอเชีย” ระส่ำหนักให้พนักงานลาหยุดแบบไม่รับเงินเดือนต่ออีก 4 เดือน


ดูเหมือนว่าสถานการณ์ของธุรกิจการบินยังคงไม่ดีขึ้นสักเท่าไหร่นัก ด้วยข้อจำกัดทางด้านการให้บริการที่เส้นทางการบินยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะเที่ยวบินระหว่างประเทศ

เช่นเดียวกับสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” ที่โดนพิษโควิด-19 เล่นงานอย่างหนักจากครั้งแรกไม่พอ ยังต้องมาเจอการระบาดระลอกใหม่อีก ทำให้ธุรกิจต้องมีการปรับทิศทางการบริหารใหม่ เพื่อให้พยุงกิจการให้ก้าวเดินต่อไปได้ โดยบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ให้บริการสายการบินแอร์เอเชียว่า บอร์ดมีมติให้ลดค่าใช้จ่ายขององค์กร โดยให้เหตุผลว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของผู้โดยสารที่ลดลง

ดังนั้น บริษัทจึงขอความร่วมมือให้พนักงานเข้าร่วมโครงการหยุดงานแบบไม่รับค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ ก.พ.-พ.ค.2564 โดยจะแบ่งพนักงานออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1.กลุ่มที่เข้าโครงการต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา จากเดิมจะสิ้นสุดเดือน มี.ค. 64 ให้ขยายเวลาออกไปจนถึงเดือน พ.ค.64 และ 2.กลุ่มพนักงานที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน ในส่วนนี้ให้ผู้บังคับบัญชาคัดเลือกพนักงานให้หยุดงานโดยไม่รับค่าจ้างเป็นระยะเวลา 4 เดือน

สถานการณ์ของสายการบินแอร์เอเชียดูจะเข้าขั้นวิกฤตไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่ยังมีในต่างแดนอีก เช่น ที่ญี่ปุ่น แอร์เอเชีย กลายเป็นสายการบินแรกที่ยื่นขอล้มละลายพร้อมมีหนี้สินจำนวน 21.7 พันล้านเยน (208 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

โดยแอร์เอเชียญี่ปุ่นต้องประสบปัญหากับช่วงเวลาที่ยากลำบากในการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการเดินทางของผู้คนมีอัตราที่ต่ำลงจากเดิมเป็นอย่างมาก และบริษัทแม่ของแอร์เอเชียในมาเลเซียได้ตัดการสนับสนุนจนนำมาสู่การประกาศยื่นล้มละลายในที่สุด

ซอฟท์โลน 2.4 หมื่นล้าน อุ้มสายการบิน?

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 ส.ค.63 คณะผู้บริหารระดับสูงของ 7 สายการบินในประเทศไทย ประกอบด้วย สายการบินไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, ไทยสมายล์ แอร์เวย์, ไลอ้อนแอร์, ไทยเวียดเจ๊ท, บางกอกแอร์เวย์ และนกแอร์ ได้เข้าหารือกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจการบินของประเทศไทยเนื่องจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยยื่นข้อเสนอ 3 ประเด็นด้วยกัน

1. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการสายการบิน โดยขอเสนอให้พิจารณามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท แก่ผู้ประกอบการสายการบินให้เร็วที่สุด

2. ขยายระยะเวลาการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น

3. การยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบิน เช่น การขึ้นลงของอากาศยาน (Landing fee) ที่เก็บอากาศยาน (Parking fee)

สำหรับซอฟท์โลนวงเงิน 24,000 ล้านบาท จะเป็นประโยชน์ช่วยพยุงธรุกิจสายการบินให้ดำเนินต่อไปได้ ทั้งในเรื่องการใช้จ่ายทั่วไป และการจ่ายเงินให้กับพนักงานที่มีรวมกันกว่า 20,000 คน อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าในเรื่องนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวสักเท่าไหร่นัก