แบงก์ไหนยืนหนึ่ง! สรุปผลประกอบการธนาคารปี 2563 ส่วนใหญ่พาเหรดกำไรลดลง


ในปี 2563 ที่ผ่านพ้นไป ถือว่าเป็นช่วงเวลายากลำบากที่หลายธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดจากผลกระทบที่มาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ธุรกิจในกลุ่มของการเงินต่างได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน จากมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น การลดอัตราดอกเบี้ย, การพักชำระหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ตามนโยบายของภาครัฐฯ จึงทำให้รายได้-กำไร ของธนาคารลดลงจากเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน

ล่าสุด หลายธนาคารในประเทศไทยได้ออกมาเปิดเผยผลประกอบการในปี 2563 ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีกำไรเพิ่มขึ้น-ลดลงมากน้อยแค่ไหนมาดูกัน

ธนาคารไทยพาณิชย์

ในปี 2563 ธนาคารไทยพาณิชย์มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 96,899 ล้านบาท ลดลง 3% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากผลกระทบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 7% จากปีก่อน จากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจขนาดใหญ่ และการสนับสนุนสินเชื่อซอฟท์โลนให้กับลูกค้าธุรกิจ

 

 

ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ (งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบ) ของปี 2563 จำนวน 27,218 ล้านบาท ลดลง 33% จากปีก่อน เป็นผลจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้น ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 80,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน (ไม่รวมกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีก่อน) ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่แข็งแกร่ง และการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับในปี 2563 ธนาคารได้ตั้งสำรองจำนวน 46,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของโควิด-19

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

รายงานผลประกอบการธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ประจำปี 2563 พบว่าธนาคารมีรายได้รวมอยู่ที่ 98,868 ล้านบาท มีกำไรสุทธิจำนวน 23,040 ล้านบาท ลดลง 14.5% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติในปี 2562 โดยเป็นผลมาจากการตั้งเงินสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ที่กลับมาในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และความเปราะบางทางเศรษฐกิจ

 

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกรุงศรียังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง ด้วยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ในระดับต่ำที่ 2.00% และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 175.12%

ธนาคารกรุงเทพ

ในปี 2563 ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 จากปี 2562 มาอยู่ที่ 77,047 ล้านบาท เป็นผลจากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตา โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง สาเหตุหลักจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อและรายได้จากเงินลงทุน จากการนำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่ (ฉบับที่ 9) มาถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

 

 

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 หลัก ๆ จากการรวมค่าใช้จ่ายของธนาคารเพอร์มาตา และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการควบรวมสาขาในประเทศอินโดนีเซียเข้ากับธนาคารเพอร์มาตาในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 55.6

ทั้งนี้ กำไรสุทธิของธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยปี 2563 มีจำนวน 17,181 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย

ธนาคารกรุงไทย และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานสำหรับปี 2563 เท่ากับ 68,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2562 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษที่เพิ่มขึ้น สินเชื่อที่เติบโตดีร้อยละ 12 ซึ่งธนาคารขยายสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ช่วยลดผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ประกอบกับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงมากถึงร้อยละ 14.4 ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 43.7 ลดลงจากร้อยละ 49.7 ในปี 2562

 

 

ธนาคารและบริษัทย่อยทยอยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่สูง จำนวน 44,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.6 เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ ในปี 2562 โดยพิจารณาอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนสูงที่อาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อ หรือ NPLs Cliff ซึ่งธนาคารได้เดินหน้าออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อัตราส่วน Coverage Ratio ณ 31 ธันวาคม 2563 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 147.3 จากร้อยละ 131.8 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ควบคู่กับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารโดยมี NPLs Ratio-Gross เท่ากับร้อยละ 3.81 ลดลงจากร้อยละ 4.33 ณ 31 ธันวาคม 2562

จากผลประกอบการดังกล่าวและการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับสูงส่งผลให้ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 16,732 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 42.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ธนาคารกสิกรไทย

 

 

ธนาคารกสิกรไทยรายงานผลประกอบการในปี 2563 พบว่ามีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 109,022 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.17% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่าน ขณะที่กำไรสุทธิของธนาคารอยู่ที่ 29,487 ล้านบาท ลดลง 23.86% เมื่อเทียบกับปี 2019 ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ธนาคารและบริษัทย่อยใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss: ECL) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 9,536 ล้านบาท หรือ 28.04% ซึ่งเป็นการตั้งสำรอง ฯ

ธนาคารทหารไทย

ธนาคารทหารไทยรายงานผลประกอบการประจำปี 2563 พบว่ามีรายได้รวม 68,791 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 10,112 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากการควบรวมกิจการกับธนชาติ แน่นอนว่ามีแรงกดดันด้านรายได้จากเศรษฐกิจที่หดตัวและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหลายครั้ง อย่างไรก็ดี ทีเอ็มบีและธนชาตสามารถดำเนินการตามแผนรวมกิจการได้ตามเป้าหมาย จึงทำให้เกิด Balance Sheet Synergy จากการปรับโครงสร้างเงินฝากและสินเชื่อ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนรายได้ดอกเบี้ย ขณะที่ Cost Synergy ซึ่งเกิดจากการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดค่าใช้จ่ายที่ทับซ้อนกันระหว่าง 2 ธนาคาร ช่วยให้ธนาคารสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างดี ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานยังคงแข็งแกร่ง