แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม แต่สวนทางกับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซที่มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวก ประหยัดเวลา สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต้องหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เป็นช่องทางสำหรับการขายสินค้าจึงทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเข้ามาในตลาดนี้
นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด หรือ Priceza กล่าวว่าเทรนด์อีคอมเมิร์ซในปี 2021 คือร้านค้าต่างชาติครองส่วนแบ่งในตลาดไทยกว่า 63% โดยผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับตัว โดยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเตรียมจะขยายตัวและกินรวบบริการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ นำโดย 5 เทรนด์ดังนี้
เทรนด์ที่ 1 E-commerce Boom creates high competition
แม้ว่าจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระบาด แต่ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซจะไม่ได้รับผลกระทบสักเท่าไหร่นัก โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าของตลาดอีคอมเมิร์ซทั้ง B2C และ C2C ในปี 2563 จะเติบโต 81% จาก 163,300 ล้านบาท เป็น 294,000 ล้านบาท
สอดคล้องกับข้อมูลของไพรซ์ซ่าที่พบว่าในปี 2563 จำนวนสินค้าใน 3 แพลตฟอร์ม Lazada, Shopee และ JD CENTRAL มีจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นกว่า 32% เช่นเดียวกับในส่วนของผู้ขายในประเทศไทยพบว่าเพิ่มสูงขึ้น 50% ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการปรับตัวในการทำธุรกิจ และเข้ามาแข่งขันในตลาดออนไลน์มากขึ้น
หากดูจากตัวเลขเจาะลึกลงไป สิ่งที่น่าสนใจ คือถึงแม้จำนวนของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จะเพิ่มขึ้น แต่ส่วนแบ่งทางการตลาดสินค้าไทยยังคงเป็นรองสินค้าต่างชาติที่กินส่วนแบ่งกว่า 63% ดังนั้น นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญของผู้ค้าชาวไทยในการเร่งพัฒนาสินค้า เนื่องจากหากแข่งขันด้วยราคาไม่อาจสู้สินค้าจากจีนได้อย่างแน่นอน
เทรนด์ที่ 2 Direct to Consumer
หลายแบรนด์มีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาด โดยหันมาสร้างช่องทางการขายสินค้าไปยังผู้บริโภคโดยตรง จากข้อมูลของไพรซซ่า พบว่าจำนวนร้านค้า Brand Official Shop ใน Shopee Mall และ Laz Mall มีจำนวนร้านค้าเพิ่มขึ้นกว่า 46% ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าแบรนด์มีความต้องการสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้า อีกทั้งลูกค้ามีความมั่นใจว่าการได้ซื้อสินค้าโดยตรงกับแบรนด์จะทำให้ได้รับของที่ถูกต้องอย่างแน่นอน
เทรนด์ที่ 3 From search base shopping to Discovery-base Shopping
ในยุคสมัยก่อนหากต้องการซื้อสินค้าผู้บริโภคก็จะใช้วิธีค้นหาบน Search Engine แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดจึงทำให้ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องค้นหาสินค้าอีกต่อไป เพราะสินค้ามันเรียนรู้ในสิ่งที่เราสนใจ และค้นหาจนโผล่มาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียป้ายยาให้เราซื้อสินค้าเหล่านั้นในที่สุด
มีข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า 53% ของออนไลน์ช้อปปิ้งมาจากการที่สินค้าเรียนรู้ และค้นหาสิ่งที่ผู้คนสนใจ และอีก 35% มาจากการเสิร์ซหาข้อมูลเอง
เทรนด์ที่ 4 Influencer Commerce
Key Opinion Leader (KOL) เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมสูง โดยข้อมูลสถิติจาก South China Morning Post 2019 พบว่า 60% ของรูปแบบ Social Marketing ที่มีประสิทธิภาพ และช่วยสร้างเม็ดเงินให้ผู้ประกอบการมากที่สุด คือ KOL ตัวอย่างในประเทศจีนที่แบรนด์สินค้านิยมจ้างดารา นักแสดง และผู้มีชื่อเสียงมาโปรโมทสินค้าผ่านช่องทาง Live สด หรือบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งผลัพธ์ประสบความสำเร็จ สร้างยอดขายถล่มทลายให้กับแบรนด์สินค้านั้น ๆ
เทรนด์ที่ 5 Convergence of Platform
การขยายตัวของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะกินรวบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จากจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์มที่เน้นให้บริการเดียว ได้ขยายตัวให้บริการในด้านอื่นๆกันมากขึ้น จากภาพเราจะเห็นได้ชัดเจนว่า หลายแพลตฟอร์มได้ขยายตัวให้บริการตั้งแต่ สื่อ, โฆษณา, อีคอมเมิร์ซ, ธนาคาร ไปจนถึงระบบขนส่ง
สิ่งที่น่าจับตามองของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ คือการแข่งขันของแต่ละแพลตฟอร์ม รูปแบบการทำการตลาด ตลอดจนการแข่งขันของสินค้าจีนที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งหาวิธีพัฒนา สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ตัวเองเพื่อต่อสู้ในสงครามอีคอมเมิร์ซกันต่อไปในอนาคต