แม้ร้าน 7-Eleven จะเป็นร้านสะดวกซื้อที่มีสาขามากที่สุดในโลกทั้งในประเทศญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และไทย แต่รู้หรือไม่ว่าธุรกิจของพวกเขาต้องพบกับความล้มเหลวในอินโดนีเซีย
หากเอ่ยถึงร้าน 7-Eleven ผู้บริโภคหลายรายจะนึกถึงภาพร้านสะดวกซื้อที่มีสินค้าอุปโภค-บริโภคมากมายให้เลือกสรร ซึ่งในเวลาต่อมาธุรกิจได้ยอดสู่บริการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร/เครื่องดื่ม, ทำขนมปัง, ทำพิซซ่า ตลอดจนการให้บริการชำระเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น จ่ายค่าน้ำ/ค่าไฟ, ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ, ค่าอินเทอร์เน็ต, ค่าประกันสังคม, ค่าตั๋วเดินทาง, บริการซักอบรีด, ส่งพัสดุ
เหล่านี้หากใครได้เห็นย่อมดึงดูดใจให้ผู้บริโภคอยากเดินเข้าไปใช้บริการ และเป็นโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าโมเดลธุรกิจสามารถใช้กับประเทศอื่น ๆ ได้ ยกเว้นที่อินโดนีเซีย ที่ร้าน 7-Eleven เข้าไปตีตลาดเปิดสาขาแรกในปี 2009 และดำเนินกิจการได้เพียง 8 ปีเท่านั้น ก็เป็นปิดสาขาลงเกือบ 200 สาขา
บริษัทเซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิ้งส์ ของญี่ปุ่น ให้เหตุผลว่าบริษัทพีที โมเดิร์น อีเตอร์นาซิโอนัล ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์เซเว่น อีเลฟเว่น ในอินโดนีเซีย ประกาศยุติกิจการทั้งหมดเมื่อสิ้นเดือน มิ.ย. 2017 เนื่องจากประสบสภาวะขาดทุน และมองหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เพื่อมองถึงความเปิดไปได้ที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายมีการตั้งข้อสงสัยขึ้นมาเพราะอะไรร้าน 7-Eleven ถึงไม่ปังในประเทศอินโดนีเซีย หากดูปัจจัยสนับสนุนก็จะพบว่าในเรื่องของประชากร อินโดนีเซียมีจำนวนผู้คนที่ไม่เป็นรองประเทศอื่น ๆ บนโลกใบนี้ จึงไม่น่าจะใช่เรื่องยากหากธุรกิจจะประสบความสำเร็จ
มีการวิเคราะห์กันว่าสาเหตุที่ทำให้ร้าน 7-Eleven ล้มเหลวในอินโดนีเซียมาจากปัจจัยหลายด้านด้วยกัน ดังต่อไปนี้
ดาบสองคมร้าน 7-Eleven แบบคาเฟ่
ปกติร้านค้าปลีกทั่วไปจะทำรายได้มากก็ต่อเมื่อลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าในปริมาณที่มาก ๆ โดยร้าน 7-Eleven ในอินโดนีเซียมีการออกแบบร้านในลักษณะของคาเฟ่ เพื่อดึงดูดกลุ่มคนวัยรุ่น หนุ่มสาวให้เข้ามานั่งในร้าน สั่งเครื่องดื่ม แถมบริการ Wifi ฟรี แม้ว่าช่วงแรกของการตลาดรูปแบบนี้จะได้รับความนิยม แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเรื่อย ๆ กลายเป็นดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวเอง เมื่อลูกค้าไม่ได้เต็มใจที่จะจ่ายเงินมากพอเหมือนกับที่ทางร้าน 7-Eleven คาดหวังไว้
ข้อจำกัดการจำหน่ายเครื่องดื่มของรัฐบาลอินโดฯ
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่เคร่งครัดเรื่องของกฎหมายเป็นอย่างมาก และมีกฎหมายควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านสะดวกซื้อ และร้านขายของชำ ยกเว้นแค่เกาะบาหลี รวมถึงการขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอัตราที่สูงถึง 150% ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าขายดีอันดับต้น ๆ ของร้าน 7-Eleven
การแข่งขันที่ดุเดือด
7-Eleven ต้องเผชิญกับการแข่งขันของร้านสะดวกซื้ออย่างดุเดือด มีข้อมูลที่น่าสนใจระบุว่าก่อนที่ 7-Ekeven จะเข้ามาเปิดสาขาแรกในอินโดนีเซีย 3 ปี มีร้านสะดวกซื้อที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว 12,000 แห่ง และเพิ่มเป็น 40,000 แห่งในปี 2016 โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ไม่เพียงเท่านั้น 7-Eleven ยังต้องพบกับคู่แข่งร้านสะดวกซื้อที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดเดิมอยู่ ทั้ง Indomaret ที่มีสาขา 15,000 แห่ง คิดเป็น 47%, Alphamart ที่มีสาขา 10,000 แห่ง คิดเป็น 38% ขณะที่ 7-Eleven มีสาขา 190 แห่ง คิดเป็น 0.7% เท่านั้น
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าการใช้โมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ณ ที่หนึ่ง นำมาใช้อีกที่หนึ่งไม่ได้การันตีถึงความสำเร็จเสมอไป เพราะด้วยปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน ผลลัพธ์ที่ออกมาย่อมแตกต่างกัน ดังนั้น การขยายธุรกิจควรศึกษารายละเอียด กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างให้ดีเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง
อ้างอิง:
https://www.reuters.com/article/us-seven-i-hldgs-indonesia/7-eleven-indonesia-where-popularity-wasnt-enough-idUSKBN19L1ZE
https://www.wowshack.com/why-7-eleven-totally-failed-in-indonesia/
https://www.scmp.com/week-asia/business/article/2102307/why-did-all-7-elevens-jakarta-suddenly-disappear