เปิด 7 ยุทธวิธี “เซอเทิ่น” เพื่อ SMEs ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ปี 64 ทางออกช่วยขายจากทีมวิจัย ซีเอ็มเอ็มยู
จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีการหยุดชะงัก หลายภาคธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบในวงกว้างต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทยอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากประเทศไทยมีสัดส่วน SMEs กว่า 3 ล้านราย (ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.)
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า SMEs จึงมีส่วนสำคัญต่อการสร้างงาน สร้างรายได้ และเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทย ในขณะเดียวกันพบว่าวิกฤติโควิด- 19 เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการปรับตัวอันจะเห็นได้จากผู้ประกอบการหลายรายต้องมีการปรับกลยุทธ์ และเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลง หลังเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทต่อวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะ โซเชียล มีเดีย (Social Media) ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อ SMEs อยู่ไม่น้อยว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้สถานการณ์ปัจจุบัน
ล่าสุด ทีมวิจัยสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้คิดค้นกลยุทธ์ Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น เพื่อเป็นประโยชน์แก่ SMEs นำไปปรับใช้เพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้ ตลอดจนสามารถตอบสนองความต้องการและมัดใจผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดฉับไวในทุกสถานการณ์ ซึ่งประกอบด้วย
· Content First เนื้อหาต้องดีโดนใจ – จากปริมาณข้อมูลที่มีอยู่มากมาย อีกทั้งผู้บริโภคมีข้อจํากัดในเรื่องเวลาและความสามารถในการบริโภคข้อมูล ภาคธุรกิจต้องสร้างสรรค์เนื้อหาในการสื่อสารกับกลุ่มตลาดอย่างมีศักยภาพ ตรงใจ ตรงความต้องการ
· Engagement with Faith การเข้าถึงด้วยความเชื่อ – จากข้อมูลพบว่าคนไทยในทุกกลุ่มมีความเชื่อเป็นพื้นฐาน ดังนั้นหนึ่งในการเข้าถึงผู้บริโภคได้คือสร้างสิ่งที่ผสมผสานความเชื่อเข้าไปผ่านตัวรูปแบบเนื้อหาหรือผลิตภัณฑ์ได้
· Reliable Data ข้อมูลที่เชื่อถือได้ – ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะตัดสินใจเชื่อข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือสามารถตรวจสอบข้อมูลได้
· Trust in Community ความเชื่อในสิ่งเดียวกัน – ผู้บริโภคในปัจจุบันนั้นมีความเชื่อมั่นในกลุ่มที่เต็มไปด้วยข้อมูลจากคนที่มีความเชี่ยวชาญและสนใจในเรื่องเดียวกัน ดังนั้นหากสามารถเข้าถึงฐานตรงนี้ก็จะทำให้ธุรกิจสามารถเจาะถึงความต้องการของผู้บริโภคได้
· Agility ต้องมีความคล่องตัว – ในยุคที่อะไรก็มีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการทำงานอย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว เพื่อให้สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างฉับไวในสภาวะที่มีความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก
· Influencer Leading ใช้บุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิด – ปัจจุบันการที่จะทําให้ผู้บริโภคนั้นมั่นใจและตัดสินใจได้แน่นอนมากขึ้น การมีกระบอกเสียงหรืออินฟลูเอนเซอร์คอยรีวิวหรือแนะนําก็จะช่วยทําให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้ง่ายอีกทางหนึ่ง
· New Equilibrium ความสมดุลใหม่ – ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องคำนึงอยู่บนพื้นฐานของความสมดุล ไม่ว่าจะเป็น การสื่อสารของแบรนด์ผ่านตัวแบรนด์เอง การใช้ Key Opinion Leader (KOL) หรือรีวิวการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ใช้ผู้บริโภคเอง (User-Generated Content)
ดร. บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อผู้บริโภคมากขึ้นในหลาย ๆ สิ่งก็ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมความขี้เกียจของผู้บริโภค (Lazy customer) แต่ก็ยังต้องการความสะดวกสบายที่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว (High speed demand) หรือพฤติกรรมการหันมาดูแลด้านสุขภาพที่ครอบคลุมความปลอดภัยในทุก ๆ ด้าน (Healthy customer) แต่ก็ยังต้องการบริโภคสิ่งต่าง ๆ ที่สามารถตอบสนองความสุขและความสนุกสนานได้ (Happy Lifestyle) ด้วยเช่นกัน ตลอดจนพฤติกรรมในการใช้จ่ายที่รอบคอบมากขึ้น (Smart shopper) ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนมีความเชื่อโชคลาง อินฟลูเอนเซอร์ และออนไลน์คอมมูนิตี้ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงและตัดสินใจของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
ดังนั้นหาก SMEs นำเอา “กลยุทธ์เซอเทิ่น” (Certain Strategy) ไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับกระแสของตลาดได้อย่างรวดเร็วจะช่วยเพิ่มสร้างโอกาสและศักยภาพให้ธุรกิจ สามารถดำเนินต่อไปได้ในทุกสถานการณ์”