ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงฯ เพิ่มป้ายทะเบียนแบบเพื่อการประมูล ใส่ชื่อตัวเองได้


ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงฯ เพิ่มป้ายทะเบียนแบบใหม่เพื่อการประมูล ใส่ตัวอักษรมากกว่า 2 ตัว ผสมสระ วรรณยุกต์ หรือตัวเลข เฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง นำรายได้เข้ากองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล กล่าวผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ เผยที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ว่าครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนและการแสดงป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ในกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถฯ พ.ศ.2554 โดยกำหนดแผ่นป้ายทะเบียนรูปแบบพิเศษ ให้มีตัวอักษรมากกว่า 2 ตัว หรือตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์หรือตัวเลขได้ สำหรับนำแผ่นป้ายทะเบียนและหมายเลขป้ายทะเบียนดังกล่าวออกเปิดประมูล เพื่อนำรายได้เข้ากองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน แต่ยังคงประโยชน์ในการควบคุมทางทะเบียนและการตรวจสอบทางกฎหมาย โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.แผ่นป้ายแบ่งออกเป็นสองบรรทัด บรรทัดที่หนึ่ง ประกอบด้วยตัวอักษรประจำหมวดตัวที่หนึ่ง ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่สอง และหมายเลขทะเบียนไม่เกินสี่หลัก บรรทัดที่สอง เป็นตัวอักษรแสดงชื่อกรุงเทพฯหรือจังหวัดที่จดทะเบียน เว้นแต่กรณีจดทะเบียนที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้ใช้คำว่า เบตง ทั้งนี้ ตัวอักษรให้ใช้ตัวอักษรไทยหมายเลขทะเบียนให้ใช้ตัวเลขอารบิค และทั้งตัวเลขและตัวอักษรให้อัดเป็นรอยดุน

2.กำหนดเพิ่มเติมให้แผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน โดยบรรทัดที่หนึ่ง อาจประกอบด้วยตัวอักษรมากกว่า 2 ตัว หรือตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์หรือตัวเลขก็ได้ และตามด้วยหมายเลขทะเบียนไม่เกินหนึ่งหลัก ทั้งนี้ การกำหนดตัวอักษรมากกว่าสองตัว หรือตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์หรือตัวเลข ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. ให้กรมการขนส่งทางบกรับข้อสังเกตของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปดำเนินการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนรูปแบบพิเศษนี้ให้กับหน่วยงานต่างๆ ได้รับทราบโดยเฉพาะหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายด้านการจราจร เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมทางหลวง พร้อมทั้งจัดให้มีการทดลองใช้ป้ายทะเบียนดังกล่าวกับระบบอ่านป้ายทะเบียนอัตโนมัติ (License Plate Recognition: LPR) และระบบเทคโนโลยีการตรวจสอบอื่นๆ ด้วย โดยลำดับต่อไป จะส่งร่างกฎกระทรวงให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา