ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ม.หอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พร้อมด้วย รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยและ ประธานโครงการ Harbour.space@utcc ได้ทำการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2564 เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 4 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา
เนื่องจากความวิตกกังวลและผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รอบใหม่ในประเทศไทย ที่มีการระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็ว โดยมีจุดเริ่มต้นในจังหวัดสมุทรสาครในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการว่างงานในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในรอบใหม่ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 41.6 45.1 และ 56.8 ตามลำดับ
โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนธันวาคม 2563 ที่อยู่ในระดับ 43.5 47.5 และ 59.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤต COVID-19 รอบใหม่ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสปรับตัวแย่ลงได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดลงในที่สุด
การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 4 เดือน และปรับตัวอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา
โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 50.1 เป็น 47.8 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 34.5 มาอยู่ที่ 32.4 แสดงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 57.4 มาอยู่ที่ระดับ 55.1 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติ (คือ 100)
สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 4 เดือน และปรับตัวอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากตลอดจนไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 และต้นไตรมาสที่ 2 จนกว่าสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยจะคลายตัวลง ซึ่งต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ของการควบคุม COVID-19 ในไทยว่าจะคลี่คลายลงได้เร็วแค่ไหน
และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาเยียวยาผลกระทบของ COVID-19 ในรอบใหม่ของรัฐบาลในช่วงไตรมาสที่ 1-2 จาก โครงการ “เราชนะ” “คนละครึ่ง” และ “เรารักกัน” ว่าจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด และสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไรหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งปัจจัยทั้งสามจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเป็นอย่างมาก
ที่มา: มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย