อิตาลีพิมพ์ 3 มิติ! สร้างบ้านดิน รีไซเคิลได้ ผู้อยู่และชุมชนยั่งยืน


อิตาลีสร้างบ้านดินด้วยแบบพิมพ์ 3 มิติ ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ยืดหยุ่นทุกสภาพอากาศ ประหยัดพลังงาน สร้างความยั่งยืนให้ผู้อยู่อาศัยและชุมชน

สถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืน ถือเป็นอีกเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยส่วนหนึ่งมาจากการที่ได้พบว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นสาเหตุให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 39% และปูนซีเมนต์เพียงอย่างเดียวมีส่วนให้เกิดมากถึง 8%

จากประเด็นดังกล่าวทำให้ Mario Cucinella สถาปนิกชาวอิตาลีได้เกิดไอเดีย สร้างบ้านจากแบบพิมพ์ 3 มิติ “TECLA” พร้อมใช้วัตถุดิบ “ดิน” จากท้องถิ่นแทนการใช้ปูนซีเมนต์

โครงการ TECLA เริ่มต้นก่อสร้างในปี 2019 แถบเมืองโบโลญญา ประเทศอิตาลี เพื่อตอบสนองต่อปัญหาสังคมที่เร่งด่วนจากการเติบโตของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากซึ่งนำไปสู่การขาดที่พักราคาประหยัด

TECLA ถูกสร้างขึ้นโดยใช้วัสดุรีไซเคิลที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด ซึ่งนำมาจากภูมิประเทศในท้องถิ่น เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย Mario Cucinella เป็นผู้ออกแบบและพัฒนาต่อโดยวิศวกรรมด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ของบริษัท WASP

สำหรับ TECLA ถือบ้านหลังแรกที่พิมพ์ 3 มิติทั้งหมดโดยใช้ดินเหนียวที่มาจากท้องถิ่นซึ่งใช้มานานหลายศตวรรษในประเทศอินเดีย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะย่อยสลายได้ทางชีวภาพและรีไซเคิลได้

โปรเจ็กต์นี้ถือเป็นการออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ยืดหยุ่นสำหรับทุกสภาพอากาศในขณะที่ประหยัดพลังงาน ช่วยลดขยะอุตสาหกรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในท้องถิ่น ยึดหลักความยั่งยืนของผู้อยู่อาศัยและชุมชน

ที่มา : yankodesign