พิษโควิดทำตรุษจีนปีนี้คนลดใช้จ่าย มูลค่าหายกว่าหมื่นล้าน เงินสะพัดต่ำสุดรอบ 13 ปี


หอการค้าไทย เผยผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 จากประชาชน 1,215 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 25 ม.ค.-3 ก.พ.64 พบมูลค่าการใช้จ่ายปีนี้ 44,939 ล้านบาท ลดลง 21.85% เมื่อเทียบกับปี 63 ที่มีมูลค่าใช้จ่าย 57,506 ล้านบาท ซึ่งลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์ หรือลดลงต่ำสุดในรอบ 13 ปีนับตั้งแต่มีการสำรวจมาตั้งแต่ปี 52

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่าสำหรับมูลค่าการใช้จ่ายปี 64 ที่ลดลงเป็นเพราะผู้ตอบมากถึง 42.2% ตอบว่า ใช้จ่ายลดลงเมื่อเทียบกับปี 63 เพราะเศรษฐกิจแย่ลง รายได้ลดลง ลดค่าใช้จ่าย การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นหนี้เพิ่ม ของแพง ตกงาน ส่งผลให้ปริมาณการซื้อสินค้าลดลง ส่วนอีก 33.2% ใช้จ่ายไม่เปลี่ยนแปลง และมีเพียง 24.6% ที่ตอบใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น รายได้-โบนัสเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจดีขึ้น

ส่วนแหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้จ่าย ผู้ตอบ 66.8% ตอบมาจากเงินเดือน/รายได้ปกติ, 19.8% เงินออม, 10% โบนัส/รายได้พิเศษ, 1.6% เงินกู้ และอีก 1.8% เป็นเงินช่วยเหลือจากภาครัฐจากมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งมากกว่าปี 63 ที่มีพียง 0.1% ดังนั้นการที่ภาครัฐมีมาตการช่วยเหลือ สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างในช่วงตรุษจีน

“มูลค่าใช้จ่ายปี 63 ที่ติดลบ 1.3% จากปี 62 ก็ว่าน่าตกใจแล้ว พอมาเจอปี 64 ที่ติดลบมากถึง 21.85% หายไป 12,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 63 ยิ่งน่าตกใจมาก เพราะคนตอบว่า เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลดลง และผลกระทบของโควิด ทำให้ใช้จ่ายลดลง และเมื่อแยกเป็นรายภูมิภาค พบว่า ภาคใต้ ติดลบมากสุดที่ 25.80% ตามด้วยกรุงเทพฯและปริมณฑล 24.50% ภาคกลาง ลบ 21.40% ภาคเหนือ ลบ 17.21% และตะวันออกเฉียงเหนือ ลบ 15.55%” นางเสาวณีย์ กล่าว

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีฯ และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ตรุษจีนปีนี้ประชาชนใช้จ่ายลดลงมากถึง 12,000 ล้านบาท เป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 13 ปี เพราะเศรษฐกิจไม่ดี การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ลด ทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจอยู่ในช่วงซึมลึก แต่เชื่อว่าการใช้จ่ายน่าจะเริ่มดีขึ้นในช่วงปลายเดือนก.พ.นี้ หลังภาครัฐเริ่มอัดฉีดเงินเข้าระบบจากมาตรการ “เราชนะ” “เรารักกัน” แต่ยังไม่มีผลชดเชยรายได้ที่หายไปจากช่วงตรุษจีนที่ 12,000 ล้านบาทได้ คงต้องรอดูมาตรการกระตุ้นของรัฐในระยะต่อไปว่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงไร

“มูลค่าใช้จ่ายช่วงตรุษจีนที่หายไป 12,000 ล้านบาท มีผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หายไป 0.05-0.07% แต่ถ้ารัฐอัดฉีดเงิน “เราชนะ” “เรารักกัน”เข้ามาในช่วงปลายเดือนนี้ จะมีผลกระตุ้นการใช้จ่ายได้ คาดว่า เศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป และถ้ารัฐยังมีมาตรการกระตุ้นออกมาต่อเนื่อง รวมถึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้บ้าง 4-6 ล้านคน น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ประมาณ 3% แต่ถ้ายังไม่มีเข้ามาเลยก็อาจโตต่ำกว่า 3% ได้” นายธนวรรธน์ กล่าว