‘รัฐสภา’ โหวตเห็นชอบให้สัตยาบันความตกลง RCEP แล้ว พาณิชย์มั่นใจไทยได้ประโยชน์ คาดบังคับใช้ในปีนี้


9 กุมภาพันธ์ 2564 – ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเห็นชอบให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement ) ด้วยคะแนนเสียง 526 เสียง คาดมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ “พาณิชย์” มั่นใจการค้าของไทยขยายตัวได้แน่นอน

โดยก่อนหน้านี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมการประชุมรัฐสภา โดยการประชุมครั้งนี้ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอข้อมูล รวมถึงเหตุผลความจำเป็น และประโยชน์ที่ไทยจะ ได้รับในการให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ของไทยต่อรัฐสภา

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในนามคณะรัฐมนตรีตนขอเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบการให้สัตยาบันการเข้าเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือที่เรียกว่าอาร์เซป โดยข้อตกลง RCEP นั้นถือเป็นการต่อยอด FTA ระหว่างอาเซียน +1 กับประเทศต่างๆ เช่น อาเซียน + จีน,อาเซียน + ญี่ปุ่น,อาเซียน + เกาหลี ,อาเซียน + ออสเตรเลีย,อาเซียน + นิวซีแลนด์ และอาเซียน + อินเดีย รวมกันจะกลายมาเป็น RCEP ซึ่ง RCEP นี้ถือเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของประเทศไทยถ้ามีผลบังคับใช้ในอนาคต

เริ่มแรกได้มีการเจรจามาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปีมีประเด็นสำคัญ 20 ประเด็นเรียกว่า 20 ข้อบท และช่วงระยะเวลา 8-9 ปีที่ผ่านมา สามารถดำเนินการบรรลุข้อตกลงได้เพียง 7 ประเด็นยังค้างอยู่ 13 ประเด็น จนกระทั่งปีที่แล้วในช่วงระยะเวลาที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนและตนได้เข้าไปทำหน้าที่เป็นประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในการเข้าร่วมประชุมเพื่อดำเนินการให้บรรลุข้อตกลง RCEP อย่างที่ค้างคามา สุดท้ายปีที่แล้วเราสามารถดำเนินการให้ที่ประชุม RCEP บรรลุข้อตกลงได้ทั้ง 20 ข้อบทหรือ 20 ประเด็น แล้วนำมาซึ่งการลงนามที่ทำเนียบรัฐบาลกับท่านนายกรัฐมนตรีร่วมกับประเทศอื่นๆอีก 14 ประเทศ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563

โดยประเทศที่เข้าร่วมลงนามมีทั้งหมด 15 ประเทศ ผลของการบรรลุข้อตกลง RCEP และการลงนามนี้ RCEP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมี GDP รวมกันถึง 1 ใน 3 ของโลก และประชากรในกลุ่มประเทศ RCEP 15 ประเทศนี้ มีด้วยกัน 2,200 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก มูลค่าการค้าของไทยกับประเทศอาเซียนคิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยทั้งหมด ตกเป็นมูลค่าการค้า 8.5 ล้านล้านบาท ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับถ้าข้อตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ เราจะได้รับประโยชน์ทั้งในเรื่องของการค้าสินค้าและบริการ สำหรับสินค้าจะประกอบไปด้วย สินค้าทางด้านเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม

สำหรับสินค้าเกษตรที่จะได้รับประโยชน์ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง สินค้าประมง เป็นต้น สำหรับอาหาร เช่น ผัก ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วยอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า กระดาษ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย และมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น สำหรับภาคบริการ เช่นธุรกิจก่อสร้างที่ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในเรื่องนี้รวมทั้งธุรกิจในเรื่องของการค้าปลีกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ และธุรกิจดิจิตอลคอนเทนท์ เช่น ภาพยนตร์ บันเทิง อนิเมชั่น เป็นต้น

หลังที่ประชุมรัฐสภาถ้าให้ความเห็นชอบหน่วยงานของรัฐยังมีภารกิจอีก 4 เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการก่อนส่งเรื่องไปให้สัตยาบันกับเลขาธิการอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ประกอบด้วย

1.เรื่องที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมศุลกากรต้องมีการปรับพิกัดอัตราศุลกากรจาก HS 2012 ให้เป็น HS 2017 รวมทั้งต้องออกประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรภายใต้ความตกลง RCEP

2.เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการของกรมศุลกากรให้สอดคล้องกับข้อตกลง RCEP

3.เกี่ยวข้องกับกรมการค้าต่างประเทศ ต้องไปหารือกับกลุ่มประเทศสมาชิกในเรื่องแนวปฏิบัติของการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหรือที่เรียกกันว่าใบ C/O และปรับแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อตกลง

4.สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจะต้องออกประกาศกระทรวงฯเรื่องเงื่อนไขการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ที่จะนำเข้ามาผลิตรถยนต์ 125 รายการ

ซึ่งเป็นภารกิจ 4 เรื่องที่หน่วยงานของรัฐจะต้องไปดำเนินการหลังจากที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบ

” หลังการดำเนินการ 4 เรื่องจบ ประเทศไทยจะได้ดำเนินการยื่นการให้สัตยาบันต่อเลขาธิการอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา และถือว่าจบกระบวนการให้สัตยาบันของประเทศไทย ภายหลังจากที่ประเทศต่างๆให้สัตยาบันแล้วจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องให้สัตยาบันครบทั้ง 15 ประเทศ ถ้าในกลุ่มของประเทศอาเซียนมี 6 ประเทศ และกลุ่มนอกประเทศอาเซียนให้สัตยาบัน 3 ประเทศรวมกับ อาเซียน 6 ประเทศ เป็น 9 ประเทศก็ถือว่าให้ข้อตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ได้ ” นายจุรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ ความตกลง RCEP จะช่วยให้ผู้ประกอบการ และ SMEs ของไทยสามารถลดต้นทุนและวางแผนธุรกิจได้อย่างมี ประสิทธิภาพ รวมทั้งยังได้ประโยชน์จากกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน มีกฎระเบียบทางการค้าและพิธีการศุลกากรที่ โปร่งใส ชัดเจน ลดขั้นตอนและความซับซ้อนจากเดิม ซึ่งช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมการค้าที่โปร่งใสมากขึ้น นอกจากนี้ RCEP ยังกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ รวมถึงคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการค้าออนไลน์ และทำให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้ประโยชน์ จากความตกลง RCEP มากขึ้น

ด้านรายงาน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า สำหรับในปี 2563 การค้าของไทยกว่าครึ่งพึ่งพาตลาด RCEP โดยการค้ารวมระหว่างไทยกับสมาชิก RCEP มี มูลค่า 2.52 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.87 ล้านล้านบาท (57.5% ของการค้ารวมของไทย) โดยไทยส่งออก ไป RCEP มูลค่า 1.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.83 ล้านล้านบาท (53.3% ของการส่งออกไทย) สินค้า ส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เป็นต้น