พาณิชย์ ลุยผลักดันผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ธุรกิจฟู้ดทรัค เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและเข้าถึงแหล่งเงินทุน หลังธุรกิจฟู้ดทรัคเติบโตสวนกระแสโรคโควิด-19 ปริมาณรถฟู้ดทรัคเพิ่มขึ้นจาก 2,500 คัน เป็น 2,800 คัน ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี มูลค่าการตลาดแตะ 3,000 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่ร่วมโดดเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกันอย่างคึกคัก พร้อมเตรียมสร้างประสบการณ์ทางธุรกิจที่ดี จัดงาน คาราวาน ฟู้ดทรัค มาร์ท ออนทัวร์ ให้ผู้ประกอบการโชว์ศักยภาพ…หลังสถานการณ์โควิด-19 เบาบาง
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ธุรกิจฟู้ดทรัคมากขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากธุรกิจฟู้ดทรัคสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจประเภทกิจการได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการฟู้ดทรัคที่ต้องการขยายธุรกิจหรือต้องการเงินลงทุนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินได้สะดวกและง่ายมากขึ้น ขณะเดียวกัน ให้หารือกับผู้ประกอบการแฟรนไชส์ประเภทอาหารและเครื่องดื่มให้เข้าสู่ธุรกิจฟู้ดทรัคด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบธุรกิจแบบหน้าร้านพร้อมนั่งทานอาหารในร้านเป็นหลัก เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 และรัฐบาลกำหนดนโยบาย ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ พร้อมมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบทันที ถึงแม้ว่าจะมีการเพิ่มช่องทางการให้บริการจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ยอดขายก็ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร รวมทั้ง ไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่มีอย่างหลากหลาย ดังนั้น การลงทุนขยายธุรกิจสู่รถอาหารเคลื่อนที่หรือฟู้ดทรัคจะเป็นการเพิ่มอัตราส่วนของรายได้และฐานลูกค้ามากขึ้น ทำให้เข้าถึงโอกาสที่จะได้รับผลกำไรที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน”
“อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ธุรกิจฟู้ดทรัคไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความรู้ขั้นพื้นฐานก่อนเข้าสู่ธุรกิจและมองเห็นลู่ทางของการเติบโต จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องและสถาบันการเงินให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจฟู้ดทรัค ตลอดจนให้คำปรึกษาและเพิ่มพูนความรู้ที่จำเป็นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสร้างจุดแข็งในการประกอบธุรกิจ ขณะเดียวกัน เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มเบาบางลงให้จัดงานคาราวาน ฟู้ดทรัค มาร์ท ออนทัวร์ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการฟู้ดทรัคที่เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจ และขยายฐานลูกค้าแก่ผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจอยู่แล้ว รวมทั้ง เป็นการสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจ และพร้อมใช้บริการรถอาหารเคลื่อนที่ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยให้มีความเข้มแข็ง”
อาจารย์ญาณเดช ศิรินุกูลชร ประธานและผู้ก่อตั้ง TBIC Food Truck Thailand กล่าวเสริมว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งแรก ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการฟู้ดทรัคโดยตรง เนื่องจากพื้นที่ขายที่ผู้คนออกมาซื้อสินค้า เกือบทุกพื้นที่ไม่เปิดให้บริการ ทำให้ฟู้ดทรัคต้องปรับตัวด้วยการไปจอดบริเวณหน้าหมู่บ้าน เพื่อให้บริการคนในพื้นที่ที่ไม่ต้องการเดินทางออกนอกพื้นที่ สามารถสั่งอาหาร/เครื่องดื่มของฟู้ดทรัค ทั้งแบบส่งเดลิเวอรีและแบบรับสินค้าจากที่รถ ทำให้ฟู้ดทรัคที่ปรับตัวโดยเฉพาะที่มีการให้บริการแบบฟู้ดเดลิเวอรีได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าและมากกว่าสถานการณ์ปกติ”
“โดยช่วงต้นปี 2563 การออกรถฟู้ดทรัคคันใหม่เพื่อประกอบธุรกิจหยุดชะงักไปบ้าง แต่ในช่วงไตรมาสที่ 3 – 4 กลับมีการสั่งซื้อและผลิตรถฟู้ดทรัคทั้งในรูปแบบของรถกระบะและเทรลเลอร์มากขึ้น ทำให้ปลายปี 2563 รถฟู้ดทรัคเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 2,800 คันทั่วประเทศ จากช่วงต้นปี 2563 ที่มีรถฟู้ดทรัค จำนวน 2,500 คันทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12 อีกทั้ง ผู้ประกอบการฟู้ดทรัคเลิกประกอบกิจการมีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากต้นทุนในการดำเนินกิจการแปรผันตามยอดขายในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก ขณะที่ต้นทุนคงที่ในการดำเนินกิจการค่อนข้างต่ำ ทำให้การประกอบธุรกิจฟู้ดทรัคมีความยืดหยุ่นและมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับร้านอาหารทั่วไป มูลค่าการตลาดของธุรกิจฟู้ดทรัค ในปี 2562 อยู่ที่ 2,640 ล้านบาท และปี 2563 อยู่ที่ 2,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 316 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 11.97 โดยมีผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหญ่ระดับประเทศร่วมโดดลงเข้ามาร่วมแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นด้วย”
“รมช.พณ. กล่าวทิ้งท้ายว่า “อาหารปรุงสุก สดใหม่ ถึงผู้บริโภคด้วยความสะดวกหรือวิธีที่คุ้นเคย อาจสามารถยกระดับความพึงพอใจลูกค้าให้ได้ใกล้เคียงและเป็นสินค้าทดแทนการสั่งอาหารออนไลน์ได้ในอนาคต การมองเห็นวัตถุดิบ และเห็นการปรุงอาหารเป็นการส่งมอบคุณค่าที่ได้ทั้งความอร่อย สดใหม่ ถูกหลักอนามัย จึงเป็นทางเลือกของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ได้รับความนิยมมากในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า ผู้สั่งอาหารส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ไม่ต้องการเดินทางไปที่ร้านอาหาร และกว่าร้อยละ 58 สั่งตรงจากทางร้านไม่ผ่านแอปพลิเคชั่น ฉะนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการรายย่อยทั้งร้านอาหาร ร้านค้าแผงลอย และบุคคลธรรมดาที่จะเข้าสู่ตลาดธุรกิจฟู้ดทรัค”
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564) ประเทศไทยมีผู้ประกอบการฟู้ดทรัค ประมาณ 2,800 คัน แบ่งเป็น ภาคกลาง ร้อยละ 60 ภาคเหนือ ร้อยละ 14 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 9 ภาคตะวันออก ร้อยละ 6 ภาคใต้ ร้อยละ 6 และภาคตะวันตก ร้อยละ 5
สัดส่วนการจำหน่าย แบ่งเป็น ประเภทอาหารอินเตอร์ ร้อยละ 27 เครื่องดื่ม ร้อยละ 26 อาหารไทย ร้อยละ 22 อาหารว่าง-หวาน ร้อยละ 15 และ อาหารว่าง-คาว ร้อยละ 10
เงินลงทุน (รถใหม่) เริ่มต้นประมาณ 5 แสน – 1 ล้านบาท รายได้เฉลี่ยต่อคันต่อปีประมาณ 1,056,000 บาท (4,000 บาท / 22 วัน / 12 เดือน) อัตราการเติบโตของธุรกิจเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี