ส่องเทรนด์ แฟรนไชส์กาแฟ ตัวTop แบรนด์ไหน ยืนหนึ่งในใจชาวเวียดนาม


แบรนด์กาแฟระดับโลกมักจะไปทำตลาดในประเทศต่าง ๆ ได้สำเร็จ แต่มีอยู่ประเทศหนึ่งที่กาแฟต่างชาติไม่สามารถเข้ามายึดส่วนแบ่งทางการตลาดไปจากแบรนด์กาแฟท้องถิ่นได้ เราจะมาหาคำตอบว่าทำไมเวียดนามถึงกลายเป็นตลาดปราบเซียน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ (Thai Trade Center – HCMC) ได้จัดทำข้อมูลที่น่าสนใจของธุรกิจแฟรนไชส์กาแฟในประเทศเวียดนาม โดยระบุว่าจากข้อมูลของ Brands Vietnam พบว่าแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักของตลาดมากที่สุดและถูกกล่าวถึงมากในสังคมออนไลน์มากที่สุดในปี 2562 ของประเทศเวียดนาม สามอันดับแรกคือ

  • Highlands Coffee
  • Starbucks
  • และ Trung NguyenCoffee

 

นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ Cong Café ซึ่งเป็นธุรกิจ Start-up ของชาวเวียดนาม ซึ่งไปเปิดแฟรนไชส์ที่เกาหลีใต้ แบรนด์เหล่านี้ถือเป็นผู้ประกอบการหลักในตลาดร้านกาแฟเวียดนาม

Highlands Coffee (แบรนด์เวียดนาม)

Highlands Coffee® เกิดจากความหลงใหลในกาแฟเวียดนาม จนนำมาซึ่งการก่อตั้งแบรนด์ขึ้นในปี 2543 โดยเริ่มแรกเป็นธุรกิจกาแฟบรรจุถุงในกรุงฮานอย ต่อมามีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงซึ่งขยายสาขาไปทั่วเวียดนามและต่างประเทศตั้งแต่ปี 2545 ในเดือนพฤศจิกายน 2554 บริษัท IP Ventures Inc. ได้ลงนามในสัญญาแฟรนไชส์กับบริษัท Viet Thai International เพื่อเปิดให้บริการร้าน Highlands Coffee ในฟิลิปปินส์

ในปี 2555 บริษัท Jollibee Group ของฟิลิปปินส์ได้เข้าซื้อหุ้นร้อยละ 49 ของบริษัท Viet Thai International ด้วยเงินจำนวน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากข้อมูลของ Nikkei Asian Review (2561) ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้แบรนด์ Highlands Coffee ได้เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าจากนักธุรกิจ มาเป็นกลุ่มลูกค้าที่อายุน้อยกว่าด้วยราคาที่เหมาะสม
ปัจจุบันร้านกาแฟในเครือ Highlands Coffee มีจานวน 230 แห่ง เป็นธุรกิจเครือข่ายแฟรนไชส์ร้านกาแฟที่มีรายได้สูงที่สุดในเวียดนาม และในปี 2560 ของบริษัท Cao Nguyen Coffee Service JSC. ผู้เป็นเจ้าของแฟรนไชส์แบรนด์ Highlands Coffee พบว่าบริษัทมีรายได้ถึง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 จากปี 2559

Trung Nguyen Coffee (แบรนด์เวียดนาม)

ในปี 2539 นาย Dang Le Nguyen Vu ได้พบกับแบรนด์ Trung Nguyen ในเมืองบวนมาถ็วต (Buon Me Thuot) ซึ่งขณะนั้นบริษัท Trung Nguyen ยังเป็นแค่บริษัทแปรรูปกาแฟขนาดเล็ก โดย 2 ปี ต่อมา บริษัทได้เปิดร้านกาแฟในนครโฮจิมินห์เป็นสาขาแรก และยังเป็นก้าวแรกของเครือข่ายร้านกาแฟ Trung Nguyen

หลังจากนั้นในปี 2544 Trung Nguyen ก็ขยายธุรกิจแฟรนไชส์ไปในตลาดญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ซึ่งกาแฟ Trung Nguyen ก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค ซึ่ง Trung Nguyen Coffee กำลังกลายเป็นธุรกิจเครือข่ายร้านกาแฟขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังได้เปิดสาขาในเซี่ยงไฮ้ รายได้สูงสุงต่อหนึ่งร้านอยู่ที่ประมาณ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ถึง 150,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อหนึ่งร้าน อยู่ที่ประมาณ 20,000 – 30,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของ Trung Nguyen Coffee คือกลุ่มนักธุรกิจและพนักงานออฟฟิศ ปัจจุบัน Trung Nguyen มีเครือข่ายร้านแฟรนไชส์ที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามโดยมีสาขามากกว่า 1,200 แห่ง นับตั้งแต่ปี 2541

 

Cong Café (แบรนด์เวียดนาม)

แบรนด์ Cong Café เริ่มก่อตั้งในปี 2550 ร้านกาแฟร้านแรกของแฟรนไชส์เป็นร้านขนาดเล็กตั้งอยู่บนถนน Trieu Viet Vuong ณ กรุงฮานอย ซึ่งถนนดังกล่าวเป็นถนนที่เต็มไปด้วยร้านกาแฟที่เก่าแก่มากมาย การออกแบบและตกแต่งภายในของ Cong Ca Phe ได้รับแรงบันดาลใจมาจากยุค 80 ในเวียดนามซึ่งมีการตกแต่งร้านด้วยภาพวาดบนผนังที่มีสีสันสดใสที่แสดงถึงวิถีชีวิตของยุคคอมมิวนิสต์เก่า รวมทั้งพื้นไม้ โต๊ะที่มีสีโทนสีน้าตาลและเก้าอี้ไม้โบราณ มีเบาะวางรองนั่งที่หุ้มด้วยผ้าฝ้ายพิมพ์ลายจีน ร้าน Cong Café เป็นร้านกาแฟที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง นำเสนอร้านในแบบของเวียดนามแท้ๆ ด้วยรูปแบบการบริหารธุรกิจของ Cong Cafe ทำให้มีการเปิดสาขาร้านกาแฟกว่า 50 แห่งในเวียดนาม ซึ่งมีทั้งสาขาที่บริษัทบริหารงานเองและสาขาที่เป็นแฟรนไชส์

นอกจากนี้ แบรนด์ Cong Cafeตั้งใจจะทยอยเพิ่มจานวนสาขา 1-2 สาขาต่อเดือนจนถึงปี 2020 ที่ Cong Cafe และนอกเหนือจากเครื่องดื่ม ลูกค้าสามารถเพลิดเพลินกับขนมทานเล่นของชาวเวียดนามเช่นแซนด์วิช ขนมถั่วลิสง เมล็ดทานตะวัน ในปี 2561 แฟรนไชส์ Cong Café ได้เปิดสาขาแฟรนไชส์ในต่างประเทศแห่งแรกที่กรุงโซล เกาหลีใต้ โดยทางบริษัทตั้ง Master Franschise ในเกาหลีใต้ และมีการโปรโมตร้านผ่านอินสตาแกรม “Ca Cong Ca Phe South Korea” สาขาแรกตั้งอยู่ใน Yeonnam-dong นับเป็นสถานที่ยอดนิยมสาหรับวัยรุ่น

ทั้งนี้ พนักงานทุกคนจะได้รับการฝึกฝนในเวียดนาม และบาริสต้าหลักก็เป็นชาวเวียดนาม เมนูต้นตำรับทั้งหมดถูกนำไปบริการที่สาขาในกรุงโซล รวมถึงกาแฟมะพร้าวอันเป็นเอกลักษณ์ของ Cong และขนมของชาวเวียดนาม เช่น ถั่วลิสง และเมล็ดทานตะวัน เนื่องจากเวียดนามเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมสาหรับนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ โดยนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางมายังเวียดนามมากเป็นอันดับสองรองจากนักท่องเที่ยวจีน ทำให้นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้หลายคนต้องการลิ้มรสชาติกาแฟเวียดนามและขนมเวียดนาม เช่น แซนด์วิชและขนมถั่วลิสง เมื่อกลับไปยังประเทศเกาหลีใต้ เพื่อดึงดูดลูกค้าทางแบรนด์ได้ใช้ความพยายามอย่างมากสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ

โดยการตกแต่งร้านในแนวย้อนยุคเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าวัยหนุ่มสาว ในขณะที่ชุดโต๊ะเก้าอี้ แก้ว และถ้วยกาแฟไปจนถึงการตกแต่งภายในอื่น ๆ ขณะที่เครื่องดื่มจะถูกปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ

นักวิเคราะห์การตลาดมองว่าการขยายตลาดไปยังต่างประเทศของแบรนด์ Cong Ca Phe ในต่างประเทศ “มีแนวโน้มที่ดี” เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Cong Café คือคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ในการออกไปเที่ยวสังสรรค์กับเพื่อน และชอบบรรยากาศย้อนยุค ซึ่งน่าจะชื่นชอบเครื่องดื่มที่มีเอกลักษณ์ซึ่งทำจากกาแฟ โกโก้ และมะพร้าวของแบรนด์ Cong Café

Starbuck Café (แบรนด์ต่างประเทศ – สหรัฐอเมริกา)

Starbuck Café เข้าสู่ตลาดเวียดนามในปี 2556 โดยบริษัท Seattle coffee เปิดร้านสาขาแรกในนครโฮจิมินห์ โดยร่วมทุนกับบริษัท Hong Kong Maxim’s Group ซึ่งแบรนด์ Starbuck มีการขยายในเอเชียแปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในปัจจุบันแบรนด์ Starbuck มีสาขามากกว่า 3,300 แห่งในกว่า 12 ประเทศ หากนับเฉพาะในจีนก็มีถึงจานวนมากถึง 700 สาขา

บริษัท Coffee Concepts (Vietnam) Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท Hong Kong Maxim’s Group ได้สิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจร้านสตาร์บัคส์ในเวียดนาม โดยมีแนวคิดหลักของการดำเนินธุรกิจคือ “การมอบประสบการณ์การบริการที่น่าจดจาของ ร้าน Starbucks ให้กับลูกค้า และเพิ่มศักยภาพ การเติบโตของแบรนด์ Starbucks ในเวียดนาม ด้วยการเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ซึ่งให้ผู้คน ครอบครัว และเพื่อนฝูง พร้อมทั้งดื่มด่าไปกับมรดกและวัฒนธรรมกาแฟของชาวเวียดนาม”

กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ Starbuck Vietnam คือ ลูกค้าชาวต่างชาติ ลูกค้าวัยหนุ่มสาวที่มีรายได้สูงหรือมีเงินจำนวนมาก กลุ่มคนทำงานและนักธุรกิจ โดย 5 ปีหลังจากการเข้ามาของร้าน Starbuck ในเวียดนาม ปรากฎว่าสามารถตั้งร้านได้เพียง 38 แห่งเท่านั้น ซึ่งจำนวนดังกล่าวตั้งอยู่ใน นครโฮจิมินห์ กรุงฮานอย นครไฮฟอง และดานัง ตรงกันข้ามประเทศไทยที่มีร้าน Starbuck กว่า 330 แห่ง ขณะที่อินโดนีเซียมีมากกว่า 320 แห่งและมาเลเซียมีมากกว่า 190 แห่ง (**ข้อมูลในปี 2562)

ดูเหมือนว่าตลาดกาแฟเวียดนามนั้นมีการแข่งขันที่สูงมาก และการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเวียดนามของ Starbucks เป็นไปได้ยากมาก เพราะเวียดนามมีประวัติศาสตร์การดื่มกาแฟมาอย่างยาวนานและมีแบรนด์กาแฟของคนเวียดนามที่มีชื่อเสียงมากมาย นอกจากนี้ชาวเวียดนามอาจยังคงคุ้นเคยและชอบรสชาติกาแฟแบบดั้งเดิมมากกว่า

Greyhound Café – แบรนด์จากประเทศไทย

แบรนด์ Greyhound Café วางแผนที่จะเจาะตลาดเวียดนามด้วยวิธีการดำเนินธุรกิจแบบแฟรนไชส์และพยายามมองหาคู่ค้าที่มีความสามารถ นอกจากนี้ทางแบรนด์ตั้งใจที่จะเปิดร้านกาแฟแห่งแรกในกรุงฮานอย

สำหรับแบรนด์ Greyhound เปิดให้บริการครั้งแรกที่กรุงเทพมหานครในปี 2523 แรกเริ่มเป็นร้านขายเสื้อผ้าที่มีสไตล์เรียบง่าย และแปลกใหม่ กระทั่งในปี 2540 กิจการได้มีการขยายกิจการไปในธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้าน Greyhound Café เปิดให้บริการเป็นแห่งแรกที่ห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรียมในกรุงเทพมหานครและกลายเป็นที่รู้จักในเวลาไม่นาน เนื่องจากสามารถสร้างสรรค์เมนูอาหารที่เป็นเอกลักษณ์

นอกจากนี้ยังมีการขยายสาขาเพิ่มไปยังฮ่องกงในปี 2554 ที่ Ocean terminal และ Festival walk ในเวลาไล่เลี่ยกัน จนถึง
ขณะนี้ทางแบรนด์มีร้าน Greyhound café ในประเทศไทย ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสหราชอาณาจักรจำนวน 33 สาขา โดยกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ Greyhound café คือ กลุ่มคนที่ชื่นชอบในการใช้ชีวิต ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นคนที่ยังมีอายุไม่มาก และกลุ่มคนที่ชื่นชอบในการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ๆ

 

 

Source : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ (Thai Trade Center – HCMC)