“ฉลาดซื้อ” ตรวจสอบ “เครื่องฟอกอากาศ” พบ 6 แบรนด์ลด PM 2.5 ไม่ได้ตามที่โฆษณา


นิตยสารฉลาดซื้อ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ ร่วมกันทดสอบเครื่องฟอกอากาศ เน้นเฉพาะประสิทธิภาพการลด PM 2.5 โดยอ้างอิง มอก.3061 – 2563 ของเครื่องฟอกอากาศจำนวน 9 ยี่ห้อ ได้แก่ Samsung รุ่น Cube AX9500 AX47R9080SS/ST, Honeywell รุ่น Air Touch (HAC35M), Licc รุ่น Fresh 241, Electrolux รุ่น Pure A9 PA91-406GY , Saijo Denki รุ่น AP-P35, SHIMONO รุ่น AP-9000, Dyson รุ่น TP03 PH/TH WH/SV, Tefal รุ่น PU6067, และ LG รุ่น AS60GDPV0 (เก็บตัวอย่างสินค้าเดือนกันยายน 2563) พบ 6 แบรนด์ไม่เป็นตามคำโฆษณา

ผลการทดสอบประสิทธิภาพในการกรอง ฝุ่น PM 2.5

โดยพิจารณาจากค่าประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นในแง่อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate, CADR) สูงสุด ได้แก่ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Shimono รุ่น AP-9000 มีค่า CADR สูงสุด เหมาะกับพื้นที่ห้องขนาด 71.36 ตารางเมตร และอันดับ 2 ได้แก่ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Samsung รุ่น Cube AX9500 AX47R9080SS/ST ST เหมาะกับพื้นที่ห้องขนาด 56.71 ตารางเมตร ในอันดับ 3 คือ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Electrolux รุ่น Pure A9 PA91-406GY โดยทั้ง 3 ยี่ห้อมีประสิทธิภาพในการกรอง ฝุ่น PM 2.5 เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ อันดับ 4 Licc รุ่น Fresh 241 และอันดับ 5 LG รุ่น AS60GDPV0 อันดับ 6 คือยี่ห้อ Tefal รุ่น PU6067 อันดับ 7 คือยี่ห้อ Honeywell รุ่น Air Touch (HAC35M) อันดับ 8 คือยี่ห้อ Dyson รุ่น TP03 PH/TH WH/SV อันดับ 9 ยี่ห้อ Saijo Denki รุ่น AP-P35 แต่ขนาดห้องที่แนะนำ ทั้ง 6 ยี่ห้อ ไม่เป็นตามคำโฆษณา เนื่องจากมีขนาดพื้นที่น้อยกว่าที่ระบุไว้

การทดสอบเครื่องฟอกอากาศ (เฉพาะประสิทธิภาพการลด PM 2.5)

1.อ้างอิงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องฟอกอากาศเฉพาะด้านประสิทธิภาพการลด PM2.5 (มอก. 3061 – 2563) ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศสำหรับในที่อยู่อาศัยและงานที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน

2. ทดสอบในห้องที่มีการควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยนอากาศให้มีค่าน้อยที่สุดและมีการควบคุมปริมาณฝุ่นละอองขนาด 2.5 μm (PM2.5) ที่สร้างให้มีค่าอยู่ในช่วง 1.0-5.0 mg/m3

3. ฝุ่นที่ใช้ในการทดสอบใช้เครื่องสร้างฝุ่น TOPAS aerosol generator ATM 226 เพื่อสร้างฝุ่นจำลองขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 0.1-0.9 μm (ฝุ่นส่วนใหญ่มีขนาดอนุภาค 0.2 μm)

4. เครื่องวัดความเข้มข้นของ PM2.5 ในการทดสอบนี้ คือ DUSTTRAK DRX AEROSOL MONITOR 8533

5. ห้องที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นละอองนี้มีขนาดห้อง 30.45 m3 [กว้าง×ยาว×สูง:3.53 m x 3.45 m x 2.50 m]

ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่า การบอกขนาดห้องที่เหมาะสมของเครื่องฟอกอากาศแต่ละยี่ห้อ จะมีความแตกต่างกัน บางยี่ห้อ บอกขนาดห้องที่เหมาะสม ในช่วงที่ค่อนข้างกว้าง เมื่อดูจากผลการทดสอบกว่าร้อยละ 60 ของตัวอย่างเครื่องฟอกอากาศที่นำมาทดสอบไม่เป็นตามคำโฆษณา เนื่องจากมีขนาดพื้นที่น้อยกว่าที่ระบุไว้

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยกระดับมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน ทั่วไปเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้า ที่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม ในการป้องกัน อันตรายจากการสูดดม ฝุ่นและควันมลพิษที่แพร่กระจายเข้ามาสู่ตัวบ้าน และสร้างผลกระทบทางสุขภาพกับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเสี่ยง เช่น ทารก เด็กเล็ก และผู้ป่วยจากโรคทางเดินหายใจ

ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการด้านสังคมและสุขภาพ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด กล่าวว่า เรื่องมลพิษทางอากาศซับซ้อน ต้องจัดการร่วมกันหลายระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับสังคม และต้องปกป้องสุขภาพของประชาชนไปพร้อมกันการหาทางจัดการต้นเหตุ การสุ่มทดสอบเครื่องฟอกอากาศกลุ่มที่สองที่มีราคาแพงขึ้น กว่าครั้งแรกนี้ เป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภคในการปลุกพลังพลเมืองให้เป็นยามเฝ้าระวังแบบ citizen watchdog ในการปกป้องคนทุกกลุ่ม จากการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

“ในขณะที่การจัดการที่ยั่งยืนจะต้องมีการแก้ไขระบบของรัฐที่กระจัดกระจายและขาดประสิทธิภาพ เราจึงจำเป็นต้องมีการเสนอกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน ที่เน้นการปฏิรูประบบบริหารจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพของประชาชน โดยมีเป้าหมายในการปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศที่สะอาดของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิที่มีอยู่คู่กับสิทธิที่จะมีชีวิต มันเป็นสิทธิติดตัว ไม่ใช่ว่าทำให้อากาศในพื้นที่สะอาดขึ้นแล้วก็จบ แต่เป็นการมุ่งเน้นไปที่ประชาชนแต่ละคนว่าเขาจะต้องหายใจด้วยอากาศที่สะอาด กลไกของกฎหมายจะเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลไกราชการและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน” ดร.นพ.วิรุฬ กล่าว

ปัจจุบัน ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวม 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา ตัวเลขที่ได้ขณะนี้อยู่ที่ประมาณหลักพันกว่า (สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ thailandcan.org)

ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า กระบวนการออกกฎหมายเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนทำความเข้าใจกับปัญหา เพราะว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่ แต่มันจะกระตุ้นให้ประชาชนตั้งคำถามกับการจัดการมลพิษทางอากาศโดยรัฐ เกิดเป็น active citizen ที่เข้าใจเรื่องนี้และเป็นแรงผลักดันจากข้างล่างขึ้นมา

 

 

ที่มา : นิตยสารฉลาดซื้อ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค