กยศ.ชี้แจง! หักเงินพนักงาน ไม่ใช่ผลักภาระนายจ้างให้ความร่วมมือดี


ส่งต่อโอกาสการศึกษา! กยศ.ชี้แจงกรณีหักเงินเดือนเพื่อชำระเงินคืน ย้ำ ดำเนินการมาแล้ว 2 ปี บรรดานายจ้างรับทราบและเข้าใจ ไม่ใช่ผลักภาระ!

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ชี้แจงถึงกรณีมีผู้แสดงความไม่เห็นด้วย ที่กองทุนฯ ออกหนังสือแจ้งให้ภาคเอกชนหักเงินเดือนพนักงานที่กู้ยืมเงินและนำส่งเงินชำระคืนกองทุน ทั้งที่ภาคเอกชนไม่ได้เกี่ยวข้อง และบังคับภาคเอกชนเก็บหนี้ให้แทน ถือเป็นการผลักภาระให้ภาคเอกชน

ผู้จัดการกองทุนฯ ระบุว่า กรณีนี้มีการดำเนินการแจ้งหักเงินเดือนได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย.61 และได้จัดประชุมชี้แจงให้นายจ้างได้รับทราบและเข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นายจ้างทุกภาคส่วนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

สำหรับขั้นตอนการหักเงินเดือนของพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นผู้ยืมเงิน กยศ. ผ่านองค์กรนายจ้างนั้น กองทุนจะจัดส่งหนังสือแจ้งหักเงินเดือนไปตามที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ของผู้กู้ยืมเงินได้รับทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน จากนั้นกองทุนจะจัดส่งหนังสือแจ้งให้นายจ้างทราบถึงข้อมูลของผู้กู้ยืมเงินรวมทั้งจำนวนเงินที่ต้องหักนำส่งล่วงหน้าประมาณ 30 วัน

โดยนายจ้างตรวจสอบข้อมูลที่ต้องหักและนำส่งผ่านระบบรับชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาผ่านกรมสรรพากร (e-PaySLF) โดยเข้าใช้งานได้ที่เว็บไซต์ กยศ. www.studentloan.or.th

ซึ่งกองทุนจะมีการปรับข้อมูลผู้กู้ยืมให้เป็นปัจจุบันและจะแจ้งข้อมูลที่ต้องหักและนำส่งให้นายจ้างได้ทราบผ่านระบบดังกล่าวในทุกวันที่ 5 ของเดือน ทั้งนี้ กองทุนขอชี้แจงรายละเอียดการหักเงินเดือนเพื่อความชัดเจน ดังนี้

1. เมื่อพนักงานได้รับเงินเดือน ลำดับการหักเงินเดือนกองทุนอยู่ในลำดับ 3 โดยลำดับแรกเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลำดับที่ 2 หักกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และประกันสังคม และลำดับที่ 3 หักเงินกองทุน กยศ.

2. หากนายจ้างไม่ดำเนินการ นายจ้างจะต้องชดใช้เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบและต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนของจำนวนเงินที่นายจ้างยังไม่ได้นำส่งหรือตามจำนวนที่ยังขาดไปแล้วแต่กรณี

แต่ที่ผ่านมาหากหน่วยงานแจ้งเหตุผลข้อขัดข้องหรือความจำเป็นที่ไม่สามารถดำเนินการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมได้ผ่านขั้นตอนในระบบให้กองทุนรับทราบก็ไม่ต้องชดใช้เงินให้กับกองทุน และหากไม่สามารถดำเนินการหักเงินเดือนได้ กองทุนยินดีที่จะอนุโลมและผ่อนผันให้ ซึ่งในปัจจุบันกองทุนยังไม่เคยเรียกให้นายจ้างชดใช้เงินหรือเรียกเงินเพิ่มจากนายจ้างแต่อย่างใด

3. การคำนวณยอดหักเงินเดือน กองทุนจะใช้ยอดหนี้ตามตารางชำระรายปี หารด้วย 12 เดือน หรือจำนวนเดือนที่เหลือก่อนถึงวันครบกำหนดชำระหนี้ (5 กรกฎาคมของทุกปี) และในงวดปีถัดไปจะเริ่มหักเงินเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมของทุกปีจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น

และผู้กู้ยืมเงินที่ไม่สามารถชำระตามอัตราที่แจ้ง ขอปรับลดจำนวนเงินได้ โดยแจ้งความประสงค์ขอลดจำนวนการหักเงินเดือนได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect”

โดยกองทุนอนุโลมให้ชำระขั้นต่ำเพียง 100 บาท แต่ผู้กู้ยืมเงินยังมีหน้าที่ต้องไปชำระเงินในส่วนที่ขาดไปของงวดนั้นให้ครบตามจำนวนที่ต้องชำระก่อนวันครบกำหนดชำระหนี้รายปี

เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตั้งต้นมาจากงบประมาณแผ่นดินที่มาจากเงินภาษีของประชาชน และใช้เงินชำระหนี้ของผู้กู้ยืมรุ่นพี่หมุนเวียนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้อง

สำหรับปีการศึกษา 2564 นี้กองทุนได้เตรียมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา จำนวน 38,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมจำนวน 624,000 รายไว้เรียบร้อยแล้ว โดยไม่มีการจำกัดโควตาการให้กู้ยืมแต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากนายจ้างมีข้อสงสัยติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.studentloan.or.th หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ไลน์บัญชีทางการ “กยศ.องค์กรนายจ้าง” หรือ โทร. 09-4212-6250-79 (30 คู่สาย) และสำหรับผู้กู้ยืมที่ชำระเงินผ่านองค์กรนายจ้างที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ไลน์บัญชีทางการ “กยศ.หักเงินเดือน” หรือโทร. 0-2016-4888