“แฟรนไชส์” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจน่าลงทุนในยุคนี้ ด้วยข้อดีของของระบบที่มาสำเร็จรูป พร้อมให้ผู้ซื้อนำไปบริหารพร้อมขายได้ทันที ซึ่งสะดวกสบายเหมาะกับคนยุคปัจจุบันที่ต้องการความสำเร็จที่รวดเร็ว
Smartsme เปิด ClubHouse เชิญ ดร.วิชัย ธรรมานนท์ ผู้มีประสบการณ์ด้านแฟรนไชส์แถวหน้าของเมืองไทย พร้อมด้วย อาจารย์ชานนท์ มหาสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญแฟรนไชส์ด้านอาหาร และคุณณรินณ์ทิพ วิริยะบัณฑิตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอ็มจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด และประธานสถาบันสอนอาชีพชี้ช่องรวย มาพูดคุยถึงเรื่องการทำธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมชี้ช่องให้ธุรกิจคุณเติบโต
ตลาดแฟรนไชส์ช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็นอย่างไร
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบปัญหากับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าตลาดแฟรนไชส์ยังคงเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ ดร.วิชัย ธรรมานนท์ มองถึงเรื่องนี้ว่า สภาวะตรงนี้เป็นช่วงเวลาเหมาะสมเป็นอย่างมาก ทั้งในส่วนของผู้ขายที่มีธุรกิจอยู่แล้ว มองหาการขยายบริการสู่แฟรนไชส์ได้ อย่างไรก็ตาม แฟรนไชส์ คือระบบรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการควรรู้ คือระบบเชน ซึ่งเป็นระบบเครือข่าย เช่น ทำร้านอาหาร 5-6 สาขาขึ้นไป สามารถบริหารให้มีมาตรฐานทุกแห่ง
“หากบริหารระบบได้ มีรูปแบบการขาย มีกฎระเบียบของแบรนด์ได้ ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะขายแฟรนไชส์ได้ วันนึงแบรนด์มีจุดแข็งพอก็จะสามารถให้คนนอกเข้ามารับระบบของเราไปบริหาร”
ดร.วิชัย พูดถึงในฝั่งผู้ประกอบการ ว่าในยุคใหม่คน Gen C มีความต้องการประสบความสำเร็จโดยใช้เวลาน้อยที่สุด หากมาทำแบบเดิม เริ่มตั้งแต่คิดคอนเซปต์ของร้าน คิดค้นสูตร หาทำเล หาประสบการณ์ กว่าจะสำเร็จใช้เวลาค่อนข้างนานมาก แต่ถ้าเป็นระบบแฟรนไชส์จะช่วยลดระยะเวลาหลายปี ดังนั้นการซื้อแฟรนไชส์มาบริหารต่อจึงเป็นการตอบโจทย์ในเรื่องนี้ แต่การซื้อแฟรนไชส์เราต้องยอมรับตัวเองก่อนว่ามีความพร้อมที่จะอยู่ใต้กฎระเบียบของเจ้าของแบรนด์
“แนะนำแฟรนไชส์ซีที่จะซื้อให้ศึกษากฎระเบียบของเจ้าของแบรนด์ก่อนว่าเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันเจ้าของแบรนด์ก็ต้องพูดคุยเพื่อหาแนวทางเดินไปด้วยกันได้ถึงจะประสบความสำเร็จ หลังโควิด-19 แฟรนไชส์จะเป็นธุรกิจดาวรุ่งไม่ใช่ปีสองปี แต่จะเป็น 5-10 ปีข้างหน้า”
ธุรกิจอะไรที่จะยกตัวเองสู่แฟรนไชส์
ดร.วิชัย วิเคราะห์โดยอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่าภาพรวมของตลาดแฟรนไชส์ซีสัดส่วนครึ่งหนึ่งเป็นร้านอาหาร ทั้งไซส์ใหญ่ที่มีพื้นที่ประมาณ 200 ตารางเมตรขึ้นไป มีจำนวนกว่า 140,000 ราย นอกจากนั้นจะเป็นร้านอาหารขนาดเล็กลงมา รวมถึงแฟรนไชส์เครื่องดื่ม โดยที่ฮิตมากในปัจจุบัน คือชานมไข่มุก
“ผมคิดว่าแฟรนไชส์ในอนาคตที่น่าจะรุ่ง คืออะไรที่ลงทุนไม่เยอะ แล้วผู้ลงทุนขายเอง เช่น สตรีทฟู้ด ที่ยังมีโลเคชันให้ผู้ที่สนใจเปิดได้อีกเยอะ อาจจะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว อาหารจานเดียว หรืออาหารตามสั่ง ตรงนี้ดูจะเหมาะกับช่วงหลังโควิด-19 ที่ผู้คนไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนเมือง” ดร.วิชัย กล่าว
อาจารย์ชานนท์ มหาสิงห์ กล่าวเสริมว่า ถ้าหากมองว่าแฟรนไชส์อะไรที่มีโอกาสตนมองว่าธุรกิจที่มีสาขาเยอะ ๆ มีโอกาสที่จะขายเป็นแฟรนไชส์ได้ ซึ่งหมายความว่าเจ้าของแบรนด์มีประสิทธิภาพในการบริหาร และวันใดวันหนึ่งอยากจะขายแฟรนไชส์ ก็ไม่ต้องใช้เงินตัวเอง แต่เปิดโอกาสให้แฟรนไชส์ซีเข้ามาลงทุน โดยที่เห็นตอนนี้มีธุรกิจร้านอาหาร, ค้าปลีก และบริการอื่น ๆ เช่น การออกกำลังกายยิมมวยไทย, โยคะ ก็สามารถทำเป็นแฟรนไชส์ได้ รวมถึงโรงเรียนสอนพิเศษ, ร้านซักรีดแบบหยอดเหรียญ
“หากถามว่าธุรกิจไหนกำลังเติบโต มองว่าธุรกิจที่มีสาขาเป็นของตัวเองอยู่แล้ว หากเจ้าของอยากขยายแฟรนไชส์ก็สามารถทำได้หมด” อาจารย์ชานนท์ กล่าว
อาจารย์ชานนท์ กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของผู้ที่อยากซื้อแฟรนไชส์มาลงทุน ตนสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่าตลาดเมืองไทยชอบซื้อแฟรนไชส์ด้วยความคิดที่ว่าไม่ต้องมาเรียนรู้ ลองผิดลองถูก มาลองตลาดเอง เพราะว่าแบรนด์ทำมาสำเร็จรูปแล้ว แต่ประเด็น คือคนไทยอาจจะมีทุนน้อย ซื้อแฟรนไชส์หลัก 1,000-10,000 บาท ซึ่งไม่อาจการันตีความสำเร็จ แม้จะขายแฟรนไชส์ได้มาก แต่ก็ต้องมาดูอัตราการรอดของแฟรนไชส์ซีว่ามีมากน้อยขนาดไหน คืนทุนได้หรือไม่
ปัญหาเรื่องการทำธุรกิจแฟรนไชส์
ดร.วิชัย พูดถึงเรื่องนี้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแฟรนไชส์ซี และแฟรนไชส์ซอร์ ตั้งแต่การบริหารไปจนถึงผลประโยชน์ โดยมีการอธิบายที่ไม่ชัดเจน เช่น โลเคชันร้านไม่ดี ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาได้ต่อให้แบรนด์ดังขนาดไหน แต่เรื่องนี้ทำให้หนักกลายเป็นเบาได้ เช่น คุณหาโลเคชันผิด มีสัญญา 3 ปี ต้องหาวิธีทำยังไงให้คืนทุนก่อน และค่อยหาโลเคชันใหม่
“เรื่องนี้แฟรนไชส์ซอร์ที่เข้าใจจะรู้ว่าเปิดตรงนี้จะมีอัตราเสี่ยงกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัญหานี้พบเจอบ่อยมาก คือหาโลเคชันผิดแล้วยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หรือดันทุรังใช้มาร์เก็ตติ้งเข้ามาช่วย อัดโปรโมชัน ทำให้พอขายได้ โดยเรื่องนี้เป็นคนละส่วนกัน”
อาจารย์ชานนท์ แนะนำว่าก่อนจะขายแฟรนไชส์ แฟรนไชส์ซอร์ต้องมีระบบที่แข็งแกร่งเสียก่อน อาจจะเปรียบได้ว่าการขายแฟรนไชส์ก็เปรียบเสมือนกับการแต่งงานที่รับแฟรนไชส์ซีเข้ามาแล้วก็ต้องดูแลกันไปตลอดรอดฝั่ง หากเจอปัญหายอดขายไม่ดี แฟรนไชส์ซอร์ก็ควรลงไปให้คำแนะนำ
อาจจะสรุปได้ว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จ ต้องเกิดจากความพร้อม ความร่วมมือของทั้งแฟรนไชส์ซอร์ และแฟรนไชส์ซี ที่ต้องมีระบบที่แข็งแกร่ง มีรูปแบบขั้นตอนการดำเนินที่ชัดเจน พร้อมที่จะเข้าไปพูดคุย แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจอยากฟังเรื่องราวความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกิจ สามารถเข้าไปติดตามได้ที่แอปพลิเคชัน Club House ห้อง Smartsme กันได้