EIC ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ของไทยปี 2564 เป็น 2.6% ตามแนวโน้มส่งออกที่ขยายตัว


EIC ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ของไทยปี 2564 เป็น 2.6% จากเดิมที่ 2.2% ตามแนวโน้มการส่งออก ที่ขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ดีกว่าคาด และจากเม็ดเงินภาครัฐที่สนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศยังมีข้อจำกัดจากรายได้ภาคท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะฟื้นตัวช้าและผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่กระทบต่อรายได้และงบดุลของ SME และภาคครัวเรือน

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้แข็งแกร่งมากขึ้น แต่จะมีความแตกต่างกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ค่อนข้างมากตามความเร็วของการฉีดวัควีน COVID-19 และขนาดของมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะขยายตัว 5.6% ดีกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 5.0% หลังจากที่หดตัว 3.5% ในปี 2563 โดยเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในปีนี้ (synchronized recovery) เป็นผลจากความคืบหน้าของการค้นพบและฉีดวัคซีน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
และฐานต่ำ

อย่างไรก็ดี ความเร็วของการฟื้นตัวในระยะข้างหน้าของประเทศต่าง ๆ จะมีความแตกต่างกันอยู่ค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1) ความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนจนได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ (race to herd immunity)
โดยประเทศที่มีภูมิคุ้มกันหมู่ได้ก่อน จะสามารถเปิดเมืองและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะ face to face ได้มากขึ้น 2) ความต่อเนื่องและเพียงพอของมาตรการภาครัฐเพื่อลดผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ และ 3) โครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งหากมีการพึ่งพาภาคบริการโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศสูง หรืองบดุลของภาคครัวเรือนหรือภาคธุรกิจมีความเปราะบางอยู่ก่อนหน้าจะมีการฟื้นตัวได้ช้ากว่า โดย EIC ประเมินว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะได้ภูมิคุ้มกันหมู่ ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ปี 2564 เนื่องจากมีการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าในปริมาณมากประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่พร้อมกว่าในการฉีดวัคซีนให้ประชากร ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วเร่งตัวขึ้นเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ในขณะที่ประเทศในกลุ่ม EM จะได้ภูมิคุ้มกันหมู่ช้ากว่าและมีความแตกต่างกันมาก (เช่น จีนและไทยได้ในไตรมาสที่ 1/2565 ในขณะที่กลุ่ม CLMV อาจต้องรอไปจนถึงครึ่งหลังของปี 2565)

สำหรับด้านมาตรการของภาครัฐ ในส่วนนโยบายการคลัง กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนปริมาณมากในต้นทุนที่ต่ำ และยังมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ล่าสุดได้มีการเสนอมาตรการกระตุ้นขนาด 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นอย่างมาก และจะเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ขณะที่บางประเทศในกลุ่ม EM อาจเผชิญข้อจำกัดในการออกมาตรการเพิ่มเติม หลังหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นมากและมีการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง สำหรับนโยบายการเงิน ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำและการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่อเนื่องในปีนี้ เพื่อดูแลต้นทุนทางการเงินของภาครัฐและเอกชนให้อยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทำให้ตลาดเริ่มมีความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น จนทำให้อัตราพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับขึ้นอย่างมีนัย

อย่างไรก็ดี EIC ประเมินว่า ความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้นมากจนเป็นเหตุให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต้องหยุดชะงักลงในปีนี้ยังมีจำกัดและอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ 

การส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าคาดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยจากข้อมูลการส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในช่วง 2-3 เดือนล่าสุด พบว่ามีการฟื้นตัวต่อเนื่องสะท้อนการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งในส่วนของไทย พบว่ามูลค่าส่งออกในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคมมีระดับเทียบเท่ากับในช่วงก่อนเกิด COVID-19 แล้ว นับเป็นการฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่เคยคาดไว้ ขณะที่ในระยะต่อไป คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากการเร่งฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ

ดังนั้น จึงทำให้ EIC ปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าส่งออกของไทยในปี 2564 เป็นขยายตัวที่ 6.4% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 4.0% อย่างไรก็ดี ภาคท่องเที่ยวของไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เพียง 3.7 ล้านคน เนื่องจากการเดินทางระหว่างประเทศจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อประเทศส่วนใหญ่มีภาวะภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว (Herd immunity) ซึ่งจะทำให้ประเทศเหล่านั้นเปิดประเทศต่อนักเดินทางที่ฉีดวัคซีนแล้วทั้งขาเข้าและขาออกอย่างเสรีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีโอกาสได้รับภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ที่เร็วกว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ กลับไม่ใช่กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย จึงทำให้การท่องเที่ยวของไทยยังมีแนวโน้มฟื้นช้า โดยคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้และต้นปีหน้าซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยจะทยอยมีภูมิคุ้มกันหมู่มากขึ้น

 ด้านเศรษฐกิจในประเทศ พบว่า แม้การระบาดรอบใหม่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยกว่าการระบาดรอบแรก แต่ก็ทำให้การฟื้นตัวของการใช้จ่ายและรายได้สะดุดลงในระยะสั้น ซึ่งจะมีผลซ้ำเติมต่อแผลเป็นทางเศรษฐกิจและเป็นข้อจำกัดหลักของการขยายตัวของกำลังซื้อในระยะข้างหน้า โดยจากการติตตามข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด พบว่าการระบาดรอบใหม่มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม อย่างไรก็ดี พบว่าผลกระทบกลับมีน้อยกว่าการระบาดรอบแรกในช่วงปีก่อน จากมาตรการควบคุมโรคที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น และการปรับตัวของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังพบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว (bottomed out) ซึ่งสอดคล้องกับที่ EIC เคยคาดไว้ว่าผลกระทบของการระบาดรอบใหม่จะมีประมาณ 2 เดือน ทั้งนี้แม้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะมีไม่มากเท่ากับที่เคยเกิด แต่นับเป็นการซ้ำเติมแผลเป็นเศรษฐกิจของไทย กล่าวคือ การเปิดกิจการใหม่มีแนวโน้มลดลง 3 ปีติดต่อกัน

ขณะที่กิจการในภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่อาจประสบปัญหาด้านสภาพคล่องซ้ำเติม ส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อการลงทุนและภาวะการจ้างงานที่ซบเซาอยู่แล้ว โดยข้อมูลตลาดแรงงานสะท้อนว่า แม้อัตราการว่างงาน ณ ธันวาคม 2563 จะอยู่ในระดับไม่สูงมากที่ 1.5% แต่ผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนรุนแรงและกว้างขวางกว่านั้น สะท้อนจาก 1) ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของแรงงานไทยที่ลดลงกว่า 6% ขณะที่สัดส่วนผู้ทำงานต่ำระดับ (ต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เพิ่มขึ้นกว่า 1.8 ล้านคน (เทียบช่วงปี 2563 กับค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนหน้า) 2) จำนวนคนทำงานอาชีพอิสระเพิ่มขึ้นกว่า 1.3 ล้านคนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงธันวาคม 2563 ซึ่งถือเป็นงานที่มีระดับและความมั่นคงด้านรายได้ที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับตำแหน่งงานในลักษณะนายจ้างและลูกจ้างที่ปรับลดลง รวมทั้งมีข้อมูลที่ชี้ว่า รายได้เฉลี่ยของอาชีพอิสระประเภทต่าง ๆ ก็ลดลงจากเดิมมากเช่นกัน จากอุปทานแรงงานที่เพิ่มขึ้นมากในภาวะเศรษฐกิจซบเซา และ 3) จำนวนแรงงานที่ช่วยงานที่บ้านโดยไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 1.4 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า แม้การว่างงานจะไม่มาก แต่แรงงานไทยเผชิญปัญหารายได้ลดลงอย่างรุนแรง จากการทำงานที่ต่ำกว่าศักยภาพ ทำให้กำลังซื้อและความเชื่อมั่นในการบริโภคถูกกระทบมาก จนเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)