ภาพรวมเศรษฐกิจไทยกำลังกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังมีเริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มอาชีพที่สำคัญ เป็นการส่งสัญญาณว่ากิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจกำลังกลับมาอีกครั้ง
ฝ่ายวิจัย CIMBT คาดการณ์เศรษฐกิจไทยน่ากลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการเริ่มฉีดวัคซีนมากขึ้น ประเมินทั้งปี 64 เศรษฐกิจเติบโต 2.6% โดยในช่วงไตรมาส 1/2564 ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. และประชาชนมีความระมัดระวังเรื่องของการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายไตรมาส 1/2564 เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกที่กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจเริ่มกลับมาอีกครั้ง ดูได้จาก ผู้คนเริ่มจับจ่ายใช้สอย รถบนท้องถนนเริ่มติดขัด โดยฝ่ายวิจัย CIMBT คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาส 1/2564 เศรษฐกิจไทยจะหดตัว -4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นการติดลบไตรมาสสุดท้าย
สำหรับไตรมาส 2/2564 ฝ่ายวิจัย CIMBT คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาบวกอีกครั้ง โดยขยายตัว 7.8% จากปัจจัยสนับสนุนเรื่องของการส่งออกที่เร่งตัวมากขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ จีน และโลก, การใช้จ่ายในประเทศกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ฟื้นตัวเร็ว, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ แต่อีกด้านหนึ่งยังมีปัจจัยเชิงลบที่ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 2/2564 ขยายตัวไม่ได้เต็มที่ ทั้งในเรื่องของการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากวัคซีนเพิ่งเริ่มฉีด และการเปิดรับนักท่องเที่ยวน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่ยังชะลอตัวอยู่ แม้ว่าจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่กระจายตัวออกไปในวงกว้างสักเท่าไหร่นัก รวมถึงการบริโภคสินค้าคงทน ที่ผู้บริโภคต้องคิดไตร่ตรองก่อนตัดสินใจซื้อ
อุตสาหกรรมเด่น ฟื้นตัวไตรมาส 2
ฝ่ายวิจัย CIMBT ยังคาดการณ์อุตสาหกรรมเด่น ที่น่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 2/2564 ซึ่งมีทั้งหมด 6 อุตสาหกรรม ดังต่อไปนี้
1.รถมือสอง
รถมือสองเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในยุคนี้ โดยน่าจะฟื้นตัวมากกว่ารถป้ายแดง จากปัจจัยสนับสนุนเรื่องการประหยัด และมองหารถมือสองคุณภาพดี
2.มอเตอร์ไซค์
การฟื้นตัวของมอเตอร์ไซค์มาจากรายได้ภาคเกษตร ที่ปีนี้ยังคงเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอยู่ แต่ก็ไม่รุนแรงเท่าปีก่อน ด้วยเหตุนี้ทำให้กำลังซื้อภาคการเกษตรดีขึ้น ทำให้คนหันไปซื้อมอเตอร์ไซค์มากขึ้น
3.ค้าปลีกค้าส่ง
ด้วยกำลังซื้อที่ดีขึ้นของผู้บริโภคทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าปลีกค้าส่ง ฟื้นตัวได้ดี อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ก็เป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มค้าปลีกค้าส่งเช่นกัน
4.ยางรถยนต์
อุตสาหกรรมยางรถยนต์ยังต้องพึ่งพากำลังซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้สหรัฐเองจะมีมาตรการตอบโต้ หรือขึ้นภาษี แต่เราคงไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรง เรายังคงมีความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ดี
5.การส่งออก
อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทั้งหลาย ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทั้งหลาย เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ คอมพิวเตอร์ส่วนประกอบ บรรจุภัณฑ์ หรือพลาสติก กลุ่มพวกนี้ฟื้นตัวได้ดี เป็นสัญญาณต่อเนื่องได้ช่วงไตรมาสที่ 2
6.โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้คน โดยคนข้ในประเทศเพราะคนไข้ต่างประเทศยังเข้ามาไม่เต็มที่ คาดว่าจะมาไตรมาส 3