กรมพัฒน์ฯ เดินหน้าสนับสนุนโชวห่วยไทยทุกขนาดเตรียมพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์


กรมพัฒน์ฯ เดินหน้าสนับสนุนโชวห่วยทุกขนาด…จัดอาวุธให้ครบมือ พร้อมเตรียมดันโชวห่วยขนาดใหญ่เข้าตลาดหลักทรัพย์ แสดงศักยภาพ..โชวห่วยไทย..ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใคร

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีร้านค้าส่งค้าปลีกจำนวนทั้งสิ้น 4 แสนกว่าร้านค้า แบ่งเป็นร้านค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่-กลาง (นิติบุคคล) จำนวน 18,735 ร้านค้า และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก/ร้านโชวห่วย ประมาณ 400,000 ร้านค้า ซึ่งผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกทุกขนาดต่างเร่งปรับตัวให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของภาคธุรกิจโดยรวม รวมถึง ความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์สำคัญสำหรับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในการเข้าไปส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งแก่ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทย”

 

 

“เป้าหมายสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้ร้านค้าโชวห่วยพร้อมรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคบนวิถีปกติใหม่ (New Normal) และวิถีปกติถัดไป (Next Normal) เบื้องต้น กรมฯ ได้เตรียมแพ็คเกจรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับร้านค้าโชวห่วยแต่ละขนาด เปรียบเสมือนการเตรียมอาวุธให้ผู้ประกอบการอย่างครบมือ ทั้งความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และโครงการช่วยเหลือต่างๆ ที่ทยอยออกมาเสริมพลังให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น การร่วมมือกับร้านค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่จัดชุดอุปโภค-บริโภคช่วยเหลือร้านโชวห่วยขนาดเล็กเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง การประสานสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ การช่วยขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (Omni-channel) ช่วยหาเครื่องมือและระบบที่จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการร้านค้า โดยร่วมกับผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ในการผลักดันร้านค้าโชวห่วยให้ใช้ระบบ POS ทั่วประเทศกว่า 500 ร้านค้า ซึ่งจะทำให้ร้านค้าโชวห่วยสามารถทำบัญชีได้ง่ายขึ้น บริหารสต๊อกสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดได้อย่างแม่นยำ อันจะทำให้ร้านค้าโชวห่วยขนาดเล็กเติบโตอย่างแข็งแรงในระยะยาว”

 

 

“สำหรับร้านโชวห่วยขนาดใหญ่ กรมฯ เตรียมผลักดันให้มีการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยขณะนี้ มีร้านค้าโชวห่วยขนาดใหญ่ที่เป็นดาวเด่นเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วจำนวน 2 ร้านค้า และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมอีก 2 ร้านค้า ในจังหวัดกระบี่และอุบลราชธานี ซึ่งร้านค้ากำลังแต่งตัวธุรกิจให้มีความสมบูรณ์มากที่สุดก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสร้างช่องทางการระดมทุนระยะยาว เพิ่มโอกาสในการลงทุน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งร้านค้าโชวห่วยที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้นั้น ต้องมีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน รวมถึงมีระบบบัญชี/ระบบควบคุมภายในที่โปร่งใสตรวจสอบได้ และรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย กรมฯ และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และพันธมิตรอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ร้านค้าโชวห่วยกลุ่มนี้ ในการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจ การกำหนดโครงสร้างผู้ถือหุ้น และปัจจัยอื่นที่สำคัญต่อการเข้าจดทะเบียนฯ เบื้องต้น กรมฯ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญลงสถานประกอบการในการให้คำปรึกษาเชิงลึก การให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการปรับกลยุทธ์และแผนการตลาด รวมถึงคำแนะนำขั้นตอนการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ”

 

 

อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า “ร้านค้าโชวห่วยดาวเด่นทั้งหมด เป็นร้านระดับจังหวัดหรือระดับท้องถิ่นที่ผู้บริโภคคุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยกรมฯ ตั้งเป้าที่จะผลักดันร้านค้ากลุ่มนี้ เป็นร้านค้าระดับประเทศที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ มีการบริหารธุรกิจที่มีมาตรฐาน และส่งต่อคุณค่าต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ต่อไปในอนาคต โดยคาดหวังให้ทั้ง 2 ร้านค้าสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้โดยเร็ว ก็นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีมาก ทั้งนี้ กรมฯ ได้มีการพัฒนาร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบขนาดกลาง – ใหญ่ไปแล้วกว่า 213 แห่ง ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ

 

 

โดยในจำนวนนี้ มีร้านค้าที่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ได้แล้วจำนวน 2 บริษัท คือ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) จ.เชียงราย และบริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น จำกัด (มหาชน) จ.สงขลา นับเป็นความภาคภูมิใจทั้งของกรมฯ และร้านค้าที่ก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ จนสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ แสดงถึงความมีศักยภาพของร้านค้าโชวห่วยไทย ทำให้ธุรกิจในภาพรวมมีความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนให้สามารถซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายดาย รวมถึง เป็นแหล่งกระจายสินค้าท้องถิ่นและสินค้าชุมชนของประเทศ”

 

 

“กรมฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาร้านค้าโชวห่วยทั้งระบบตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่
เพราะมองเห็นถึงความสำคัญของร้านค้าโชวห่วยในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจชุมชน แหล่งการจ้างงาน และช่องทางการกระจายสินค้าที่สำคัญสำหรับผู้บริโภค กรมฯ จึงร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเสริมแกร่งและติดอาวุธให้กับร้านค้าโชวห่วยทุกขนาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ร้านค้าโชวห่วยสามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน อยู่คู่กับสังคมไทยตราบนานเท่านาน ด้วยแนวคิด “เราจะไม่ทิ้งร้านค้าโชวห่วยไว้ข้างหลัง” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย