กลยุทธ์ ปตท. ลงทุนหลายหมื่นล้านปั้น “ร้านกาแฟ-อาหาร-รถยนต์ไฟฟ้า”สร้างปั๊มน้ำมันแห่งอนาคต


ทุกวันนี้ธุรกิจปั๊มน้ำมันไม่ได้แข่งขันเฉพาะการให้บริการน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการนำบริการอื่น ๆ เข้ามาผสมผสานเพื่อดึงดูดใจให้ลูกค้าเลี้ยวรถเข้ามา หากสังเกตุตามสถานีบริการน้ำมันของแต่ละแบรนด์ในประเทศไทยก็จะพบร้านอาหาร, ร้านกาแฟ รวมถึงร้านสะดวกซื้อ จนกลายเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดย่อม ๆ

ผู้ให้บริการน้ำมันต่างมีโปรเจกต์สำคัญ เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น เช่นเดียวกับ ปตท. ที่ทุ่มเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 46,830 ล้านบาท) สร้างปั๊มน้ำมันแห่งอนาคต

คุณจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTOR กล่าวว่าบริษัทเตรียมที่จะขยายสาขาร้านกาแฟ Cafe Amazon จำนวนหลายพันแห่งทั้งใน และต่างประเทศ พร้อมกับธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากน้ำมัน เพราะว่าผู้เล่นในตลาดเชื้อเพลิงมุ่งไปที่การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า

“เราลงทุน และร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อสร้างบริษัทให้มีความแข็งแกร่ง สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการรับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่ ปตท. เตรียมสถานีชาร์จใช้เวลา 20 นาที โดยขณะรอลูกค้าสามารถเดินไปซื้ออาหารมารับประทานภายในปั๊มได้”

สำหรับ ปตท. มีสถานีบริการน้ำมันจำนวน 2,000 แห่งทั่วประเทศไทย และมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มอีก 500 แห่ง ภายในปี 2025 รวมถึงเพิ่มจุดชาร์จ EV อีก 300 แห่ง ภายในปี 2022 จากปัจจุบันที่มีอยู่แค่ 30 แห่งเท่านั้น

เป็นที่ทราบกันดีว่า ปตท. ขยายแผนการลงทุนนอกเหนือจากน้ำมันอย่างหนัก แม้ธุรกิจน้ำมันยังคงเป็นสัดส่วนของรายได้ที่ 90% โดยธุรกิจค้าปลีก กลายเป็นเป้าหมายหลักที่ ปตท. ให้ความสำคัญ และมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในประเทศไทย

มากกว่าสถานีบริการน้ำมัน

คุณจิราพร พูดถึงเรื่องนี้ว่า ปตท. มีแผนลงทุน 74,000 ล้านบาท (2.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ระยะเวลากว่า 5 ปี ขยายบริการธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน โดยการลงทุนจะเน้นหนักไปในช่วง 2 ปีแรก แบ่งเป็น 65% ในธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน และ 35% เป็นธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมัน

หนึ่งธุรกิจไม่ใช่นำมันของ ปตท. ที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ คือร้าน Cafe Amazon ซึ่งเริ่มก่อตั้งในปี 2002 บริการเครื่องดื่มกาแฟ, คุกกี้ และสินค้าอื่น ๆ ให้กับลูกค้าที่เข้ามาในปั๊ม ปตท. ด้วยกระแสตอบรับที่จึงทำให้ร้าน Cafe Amazon ขยายสาขาไปถึง 3,000 สาขา เทียบเท่ากับร้านกาแฟชื่อดังอย่าง Starbucks รวมถึงการขยายสาขาไปสู่ห้างสรรพสินค้า และร้านทั่ว ๆ ไป โดย ปตท. ตั้งเป้าที่จะขยายสาขาให้ 5,200 แห่ง ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า

ในส่วนของต่างประเทศ ปตท. ยังมีสาขาร้าน Café Amazon ในกัมพูชา, ญี่ปุ่น, โอมาน, เวียดนาม และจีน รวมถึงมีแผนขยายสาขาไปยังสนามบิน Jewel Changi ของสิงคโปร์ ซึ่งกำลังศึกษาข้อมูลเพื่อหาพฤติกรรมเชิงลึกของผู้บริโภค

นอกเหนือจากร้านกาแฟ ปตท. ยังเข้าลงทุนร้านโอกะจู๋ ซึ่งดำเนินกิจการร้านอาหารเพื่อสุขภาพ สัดส่วน 20% เพื่อต่อยอดธุรกิจ F&B เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดย ปตท. ตั้งเป้าขยายสาขาร้านโอ้กะจู๋เพิ่มเติมในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station รวมถึงการจำหน่ายอาหารแบบ Grab & Go ผ่านร้าน Café Amazon ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และภาคเหนือ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความหลากหลาย และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีไลฟ์สไตล์ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ รวมถึงมีวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและหันมาเลือกซื้ออาหารที่ปรุงสำเร็จพร้อมรับประทานหรืออาหารสำเร็จรูปเพื่อนำกลับไปรับประทานที่อื่น แทนที่นั่งรับประทานอาหารในร้านมากขึ้น

อีกทั้ง ยังเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME และเกษตรกรผู้ปลูกผักในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการที่มีโอกาสเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านทางสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และร้าน Café Amazon

ที่มา:

https://www.reuters.com/article/us-pttor-strategy-idUSKBN2BL0M2?taid=60618b679d53350001997057&utm_campaign=trueAnthem:+Trending+Content&utm_medium=trueAnthem&utm_source=twitter 

https://www.pttor.com/th 

https://www.prachachat.net/economy/news-599685