บทสรุป “Ever Given” เกยตื้น! แม้กู้เรือสำเร็จ แต่ผลกระทบตามมาเพียบ


“คลองสุเอซ” เปิดอีกครั้ง! หลังภารกิจกู้เรือ “Ever Given” เกยตื้น ลุล่วง ชี้ ผลกระทบลามทั่วโลก เจ้าของสินค้า-บริษัทขนส่งเสียหายเฉียดพันล้าน

เป็นที่พูดถึงเกือบตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กับเหตุการณ์เรือขนส่งขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ “เอเวอร์ กิฟเวน” (Ever Given) ซึ่งถูกพายุพัดขวางคลองสุเอซ และเกยตื้นกับสันดอนทราย จนเกิดเป็นวิกฤติด้านการขนส่งสินค้ากระทบไปทั่วทั้งโลก

 

 

โดยล่าสุด สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การเดินทางขนส่งสินค้าในคลองสุเอซ ประเทศอียิปต์ เริ่มกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งตั้งแต่ช่วงสายของวันจันทร์ (29 มี.ค.64) หลังจากหยุดชะงักเนื่องจากเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดยักษ์ “Ever Given” เกยตื้นปิดกั้นช่องทางมาเกือบหนึ่งสัปดาห์

Osama Rabie ประธาน Suez Canal Authority (SCA) (หน่วยงานของรัฐบาลอียิปต์ ทำหน้าที่ดูแลรักษาคลองสุเอซ) กล่าวว่า จากการเกยตื้นขวางคลองของ Ever Given ทำให้มีเรือที่แล่นผ่านไม่ได้สะสมทั้งสิ้น 422 ลำ ซึ่งจะระบายอออกได้ในเวลาไม่เกิน 3-4 วัน

“จากการตรวจสอบเบื้องต้น ไม่มีคอนเทนเนอร์ได้รับความเสียหายแม้แต่ตู้เดียว ภายใน 4 วัน ทุกอย่างจะกลับสู่สภาวะปกติ เราจะทำงานทั้งวันทั้งคืนเพื่อเคลียร์งานที่ค้างอยู่ทั้งหมด” Rabie กล่าว

 

 

ประธาน Suez Canal Authority ย้ำด้วยว่า เรือที่ขนาดใกล้เคียงกับ Ever Given จะยังคงแล่นผ่านคลองสุเอซได้อย่างปลอดภัย โดย SCA จะไม่เปลี่ยนนโยบายในการรับเรือดังกล่าวแต่อย่างใด

สำหรับรายละเอียดของการกู้เรือ มีการเปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าของวันจันทร์ เจ้าหน้าที่กู้ภัยจาก SCA ซึ่งทำงานร่วมกับ Smit Salvage (บริษัทกู้เรือสัญชาติดัตช์) ให้เรือลอยลำได้บางส่วนก่อนเลื่อนลงสู่น้ำ และหลายชั่วโมงหลังจากนั้น จึงหันหัวกลับลงสู่คลองสุเอซ ก่อนจะถูกลากจูงไปได้อย่างอิสระเมื่อกระแสน้ำเปลี่ยน

“ภารกิจนี้เสร็จสิ้นไปด้วยดีอย่างไม่น่าเชื่อ ท่ามกลางความกดดันเรื่องเวลา” Peter Berdowski ซีอีโอ Smit Salvage กล่าวหลังจาก Ever Given กลับไปลอยลำได้อีกครั้ง

รายงานของรอยเตอร์ส ระบุอีกว่า มีการขุดทรายประมาณ 30,000 ลูกบาศก์เมตรเพื่อเติมลงในเรือที่มีคอนเทนเนอร์อยู่แล้ว 224,000 ตัน ใช้เครื่องชักทั้งหมด 11 ตัว และเรือลากจูงกำลังสูงอีก 2 ลำ เพื่อดึง “Ever Given” ให้หลุดเกยตื้น ขณะที่ผู้จัดการด้านเทคนิคของเรือ Ever Given กล่าวว่า ไม่มีรายงานเรื่องมลพิษหรือความเสียหายของสินค้าในภารกิจครั้งนี้

“Maersk” กลุ่มบริษัทเดินเรือระดับโลก เป็นหนึ่งในผู้ส่งสินค้าที่เปลี่ยนเส้นทาง วิ่งเรืออ้อม “แหลมกูดโฮป” (Cape of Good Hope) ที่ต้องเวลาเดินทางมากกว่าเดิมถึง 2 สัปดาห์ โดย Maersk แสดงความคิดเห็นว่า อุบัติเหตุครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักในระบบขนส่งสินค้าทั่วโลก ซึ่งอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือนกว่าจะกลับเป็นปกติ

ด้านแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมขนส่ง กล่าวว่า เจ้าของบริษัทและผู้เช่าเหมาเรือที่ล่าช้าอาจต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 24 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการประกันไม่ครอบคลุม

สำหรับเส้นทางการเดินสินค้าผ่านคลองสุเอซ คิดเป็นประมาณ 15% ของปริมาณการขนส่งทั่วทั้งโลก ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สกุลเงินต่างประเทศที่สำคัญของอียิปต์ การหยุดชะงักครั้งนี้ทำให้คลองสุเอซต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูงถึง 15 ล้านเหรียญฯ ต่อวัน

ที่มา : Reuters