“ดองกิโฮเต้” ร้านดังที่ขายดิบขายดี 24 ชั่วโมง เพราะแง้มประตูไว้ แต่ลูกค้าเข้าใจผิดว่าร้านเปิด


นาทีนี้คนไทยหลาย ๆ คนอาจจะเริ่มคุ้นหูกับชื่อร้านสัญชาติญี่ปุ่นที่ไม่ว่าใครจะเดินทางไปญี่ปุ่นทีไรจะต้องมีของจากร้านดองกิโฮเต้ (Don Quijote) ที่เรามักจะพูดติดปากกันว่า ร้านดองกิ หรือดองกี้ ที่มีสัญลักษณ์เป็นเจ้าเพนกวินสีฟ้า ซื้อหามาฝากกันแทบทุกราย

ล่าสุด ดองกิ ศูนย์การค้าญี่ปุ่นเตรียมเปิดสาขาแห่งใหม่ที่ MBK ปลายปี 2564 ชูแนวคิด Japan Town ยกระดับการช้อปปิ้งสไตล์ญี่ปุ่นเป็นจุดศูนย์กลางของเทรนด์ใหม่ๆ จากญี่ปุ่น มัดใจนักช้อป พร้อมส่งต่อโอกาสสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนไทย

 เพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้น เว็ปไซต์ Anngle.org ได้นำเสนอเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับที่มาที่ไปของการทำธุรกิจจากร้านขายของชำธรรมดา จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยดอง ดอง ดอง ดองกิ~ ดองกิ…โฮเต้~ เพลงติดหูที่ได้ยินทุกครั้งที่เข้าร้าน และกองสินค้าลดราคาที่วางแน่นชั้นราวกับป่าสินค้าคือดองกิโฮเต้ ร้านของลดราคาที่ขาช้อปต้องแวะทุกครั้งที่ไปญี่ปุ่น แต่ก่อนจะเป็นดองกิโฮเต้อย่างทุกวันนี้ ดองกิโฮเต้เริ่มจากร้านขายของชำเล็กๆ ที่ใกล้จะขาดทุนของยาสุดะ ทาคาโอะ (安田隆夫) และความเข้าใจผิดของลูกค้าคนหนึ่ง

ยาสุดะ ทาคาโอะ จากชีวิตฟรีแลนซ์จนเปิดร้านขายของชำ

ยาสุดะ ทาคาโอะ (Yasuda Takao) ผู้เริ่มธุรกิจดองกิโฮเต้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคโอ (慶応大学) และทำงานในบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง แต่ด้วยวิกฤติการณ์น้ำมันปี ค.ศ. 1973 บริษัทนั้นก็ปิดตัวลง และยาสุดะก็ใช้ชีวิตช่วงวัย 20 เป็นมนุษย์ฟรีแลนซ์ จนกระทั่งล่วงเข้าอายุ 29 ยาสุดะจึงเริ่มคิดทำธุรกิจอย่างจริงจัง

ยาสุดะ ทาคาโอะ ผู้ริเริ่มดองกิโฮเต้

แต่ตัวยาสุดะเองที่ไม่ได้มีความรู้เฉพาะทางเป็นพิเศษ ไม่มีคุณสมบัติใด ๆ และไม่ได้สื่อสารกับคนเก่งอะไรนัก ดังนั้น สิ่งเดียวที่เขาคิดว่าจะทำได้ก็คือการเปิดร้านขายของชำ และในปีค.ศ. 1978 ยาสุดะได้เปิดร้านขายของชำเล็กๆ แถวสุงินามิ (杉並) กรุงโตเกียว (東京都) เป็นร้านขายของชำที่ขายข้าวของเครื่องใช้ประจำวันในราคาถูก และมีสินค้าเรียงกันแน่นขนัดราวกับป่าดงดิบ แต่ถึงอย่างนั้น ร้านก็เปิดกิจการโดยแทบไม่มีลูกค้า จนล่วงไปสามเดือนและร้านใกล้จะต้องปิดกิจการเต็มที แม้ว่ายาสุดะจะลองวิธีเช่นติดป้าย “ขายดี” ไว้ที่กล่องสินค้าก็ตาม

ความเข้าใจผิดที่เปลี่ยนทุกอย่าง

กลางดึกวันหนึ่ง ยาสุดะกำลังปิดร้านโดยที่ไฟหน้าร้านยังเปิดสว่างและประตูม้วนก็ยังแง้มไว้ ลูกค้าคนหนึ่งที่ออกมาซื้อของเห็นดังนั้นจึงเดินเข้ามาโดยเข้าใจผิดว่าร้านยังเปิดอยู่ แม้ยาสุดะจะกำลังปิดร้าน แต่ในเมื่อลูกค้าเข้ามาซื้อของทั้งที เขาจึงขายของด้วยความยินดี ตอนนั้นเองที่ยาสุดะเห็นว่าแม้จะกลางดึก แต่ก็ยังมีลูกค้าที่อยากซื้อของอยู่ ประกอบกับที่สมัยนั้น 7-ELEVEN ยังเปิดให้บริการจนถึง 5 ทุ่มอยู่ ยาสุดะจึงเปิดร้านจนถึงกลางดึก และคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาของลูกค้าก็ชวนให้ลูกค้าใหม่มาซื้อของเรื่อย ๆ

จากร้านที่ใกล้ปิดกิจการ ร้านขายของชำของยาสุดะก็สามารถทำรายได้ถึง 2 ร้อยล้านเยน และเปิดร้านดองกิโฮเต้สาขาแรกที่ฟุจุ (府中) ได้ในปีค.ศ. 1988

บางอย่างที่ไม่เคยเปลี่ยน

ถึงจะเป็นร้านที่ได้รับความนิยมและขยายสาขาไปยังต่างประเทศได้อย่างที่เห็น แต่ดองกิโฮเต้ก็ยังคงคอนเซ็ปต์เดิมจากตอนที่ยังเป็นร้านขายของชำ นั่นคือการจัดร้านให้มีสินค้าวางแน่นเต็มไปหมด แทนที่จะจัดสินค้าให้ดูง่าย หยิบง่าย ซื้อง่ายอย่างร้านทั่วไป แต่ไอเดียการจัดร้านแบบนี้ของยาสุดะนั่นเองที่ทำให้ดองกิโฮเต้ต่างจากร้านทั่วไป และทำให้ลูกค้าที่มาซื้อของได้ความรู้สึกเหมือนกำลัง ล่าสมบัติ เพื่อหาของถูกที่ถูกใจกลับบ้านไปด้วย