สุดยอดไอเดีย! ชายจีนสร้าง ‘รถไฟเหาะ’ ตะลุยสวนส้ม พลิกชีวิตเกษตรกร-ต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่


รถบรรทุกขนาดเล็กอัดแน่นด้วยส้มสะดือสดใหม่น้ำหนัก 200 กิโลกรัม วิ่งคดเคี้ยวไปตามรางที่ทอดตัวผ่านเนินลาดชันของสวนผลไม้ในอำเภอเฟิ่งเจี๋ย เทศบาลนครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ดูคล้ายคลึงกับรถไฟเหาะไม่มีผิด

จางหย่ง เจ้าของสวนส้มแห่งนี้ บังคับรถบรรทุกอยู่ตรงที่นั่งคนขับ ขณะยานพาหนะสี่ล้อเคลื่อนตัวสู่โกดังใกล้เคียงบนรางความยาว 96 เมตร

จางหย่งกระโดดลงจากรถบรรทุกพร้อมเปิดโหมดไร้คนขับ เขาเล่าว่าผู้ขับสามารถติดเครื่อง ถอยหลัง และใช้เบรกได้อย่างง่ายดายเพียงกดปุ่มบนรีโมตควบคุม

ชาวบ้านหลายพันคนในอำเภอเฟิ่งเจี๋ยปลูกส้มสะดือและพืชตระกูลส้มอื่นๆ เพื่อหาเลี้ยงชีพ อำเภอแห่งนี้เป็นที่ตั้งของแปลงปลูกส้มขนาดกว่า 24,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 1.5 แสนไร่) สร้างรายได้กว่า 3 พันล้านหยวน (ประมาณ 1.43 หมื่นล้านบาท) ทุกปี

จางหย่งปลูกส้มสะดือในเฟิ่งเจี๋ยมานาน 10 ปีแล้ว เขามองว่าระบบขนส่งใหม่นี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง “ในอดีตเราต้องใช้แรงงานมนุษย์อย่างน้อยสี่คนเพื่อแบกส้มไว้บนบ่าหรือหลัง รถขนส่งคันนี้ช่วยให้งานต่างๆ สะดวกขึ้นมาก”

 

 

ระบบขนส่งสุดล้ำคิดค้นโดยจางรุ่นฝู ชาวเฟิ่งเจี๋ยวัย 45 ปี ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอัตโนมัติ ซึ่งเดินทางจากมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) เพื่อมาเยี่ยมครอบครัวเมื่อเทศกาลตรุษจีนปีก่อน จางไม่สามารถเดินทางกลับกว่างตงได้เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) และเมื่อใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสวนผลไม้ในบ้านเกิด เขาก็รู้สึกประหลาดใจกับวิถีการขนส่งปุ๋ยและส้มแบบดั้งเดิมอันยากลำบากของเกษตรกรท้องถิ่น

“ผมคิดกับตัวเองว่าจะสร้างรูปแบบการขนส่งที่สะดวกสบายขึ้นสำหรับพวกเขาได้อย่างไรโดยใช้ความเชี่ยวชาญของตัวเอง” คำบอกเล่าจากจางรุ่นฝู หลังจากนั้นแบบร่าง 3 มิติของระบบขนส่ง “รถไฟเหาะ” ก็เสร็จสมบูรณ์ภายในหนึ่งเดือน ตามด้วยต้นแบบรถบรรทุกและรางรถไฟ

 

 

สวนผลไม้ของจางหย่งได้รับเลือกเป็นเขตนำร่อง โดยมีการทดสอบความเร็ว เบรก และประสิทธิภาพด้านเทคนิคของรถบรรทุกหลายครั้งในช่วงเดือนถัดมา

“รถบรรทุกผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถปรับใช้กับแปลงปลูกที่มีลักษณะเป็นเนินเขาได้” จางรุ่นฝูกล่าว พร้อมเสริมว่ามันสามารถรองรับน้ำหนักได้มากโดยไม่ต้องอาศัยพื้นที่ขนาดใหญ่

ระบบขนส่งเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 และเมื่อข่าวกระจายออกไปก็ดึงดูดความสนใจจากคนในท้องถิ่นและพื้นที่อื่นจำนวนมาก จางรุ่นฝูวางแผนติดตั้งระบบขนส่งที่ประกอบด้วยรางยาว 2 กิโลเมตรและ 8 กิโลเมตรในหมู่บ้านใกล้เคียง 2 แห่งในปีนี้ อีกทั้งเตรียมส่งมอบรถขนส่งทั้งหมด 11 คันให้กับพวกเขาด้วย

สิ่งประดิษฐ์นี้ไม่เพียงพลิกชีวิตของเกษตรกรไร่ส้มในอำเภอเฟิ่งเจี๋ย แต่ยังทำให้จางรุ่นฝูย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิดหลังจากไปนานกว่า 20 ปี เขาได้จดทะเบียนบริษัทในท้องถิ่น ยื่นขอสิทธิบัตร และจัดตั้งทีมงานมืออาชีพ เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของระบบ รวมถึงจัดเตรียมรถขนส่งไว้รองรับผู้ที่สนใจเข้าชม แบบเดียวกับรถไฟเหาะของจริงด้วย

ก่อนหน้านี้จางรุ่นฝูทำงานพัฒนาเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติสำหรับโรงงานเขตเมืองในกว่างตง ทว่าขณะนี้เขาเล็งเห็นศักยภาพมากมายในพื้นที่ชนบทแล้ว “ผมควรนำสิ่งที่ได้เรียนรู้กลับมาและช่วยพัฒนาบ้านเกิดของผม”

จางรุ่นฝูกล่าวทิ้งท้ายว่ารถบรรทุกขนาดเล็กนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นอาชีพใหม่ของเขา “ผมตั้งใจพัฒนาแอปพลิเคชันที่ผสานไลฟ์สตรีมมิงเข้ากับอีคอมเมิร์ซ โดยลูกค้าสามารถเลือกรับเลี้ยงต้นส้มเพื่อคอยติดตามการเจริญเติบโตของมัน หรือสั่งซื้อส้มทางออนไลน์โดยตรงก็ได้”

ที่มา: สำนักข่าวซินหัว