แนะทางรวย! ปลูก “กัญชง” Outdoor เก็บผลผลิตช่อดอก 5 ปี คืนทุน


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ ปลูกกัญชง ในระบบเปิด (Outdoor) เพื่อเก็บผลผลิตช่อดอก รวมทั้งเส้นใยกัญชง มีโอกาสสดใสกว่า “กัญชา” ประเมินลงทุนเบื้องต้น 300,000-1,500,000 ต่อไร เกษตรกรคืนทุนใน 4-5ปี

การประเมิน พบว่า “กัญชง” จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพของเกษตรกรและผู้ลงทุน มากกว่า “กัญชา” ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย ทั้งการปลูก การสกัดสาร CBD น้ำมันเมล็ดกัญชง และเส้นใย (Fiber) และการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เปิดกว้างมากกว่า “กัญชา” แม้ว่าตลอดกระบวนการจะยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ

ด้านความต้องการ สารสกัด CBD และน้ำมันเมล็ดกัญชง เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม อาหารสัตว์ รวมถึงเส้นใย สำหรับเป็นวัตถุดิบในสินค้านวัตกรรม เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ พลาสติกชีวภาพ ฯลฯ มีแนวโน้มเติบโตทั้งในประเทศและตลาดโลก

แรงผลักดันดังกล่าวทำให้เกิดการลงทุนเพาะปลูก “กัญชง” เพิ่มมากขึ้น โดยมีการประเมินว่า ตลาดกัญชงโลกในปี 2563 มีมูลค่าราว 4,748 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 149,039 ล้านบาท โดยจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 18,608 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 584,105 ล้านบาท ในปี 2570 หรือในอีก 6 ปี โดยเติบโตเฉลี่ย 22.4% ต่อปี

ขณะเดียวที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคาดว่า ผลผลิตกัญชงต้นน้ำของไทยรอบแรกหลังการปลดล็อก น่าจะทยอยออกสู่ตลาดได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 โดย “กัญชง” ต้นน้ำของไทยจำเป็นต้องมีคุณภาพดี ราคาไม่สูงเกินไป และแข่งขันได้กับวัตถุดิบและสารสกัดกัญชงจากต่างประเทศด้วย

ประเมินว่า ในปี 2564 รายได้จากปลูกกัญชงระบบเปิด เพื่อเก็บช่อดอก ที่ให้ผลผลิตช่อดอกกัญชงแห้งราว 20-40 กก./ไร่ อาจจะอยู่ที่ราว 200,000 -1ล้านบาท/ไร่ เนื่องจากราคารับซื้อที่สูงเพราะผลผลิตที่ยังมีจำกัดเป็นหลัก ขณะที่ต้นทุนการปลูก คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 300,000-1.5 ล้านบาท/ไร่

ทำให้เป็นไปได้ว่า ผู้ลงทุนปลูกกัญชงอาจต้องใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 4-5 ปี สำหรับการปลูกเพื่อขายเส้นใยกัญชง แม้ราคาจะน้อยกว่าช่อดอก แต่ผลผลิตที่ได้จะมากกว่า ทำให้รายได้ ต้นทุน และระยะเวลาคืนทุน อาจจะไม่แตกต่างกันมากนัก

แต่หากลงทุนการปลูก “กัญชง” ในระบบปิด (Indoor) แม้จะต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า แต่ผลผลิตช่อดอกที่ได้จะมีราคาที่สูงกว่า ในระดับ Medical Grade ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสคืนทุนเร็วกว่า

อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาต่อจากนี้ เมื่อมีการปลูกกัญชงเพิ่มมากขึ้น อาจมีแนวโน้มที่ทำให้ราคากัญชงไม่สูงเหมือนปีแรกๆ โดยเฉพาะถ้าในอนาคต หากภาครัฐอนุญาตให้มีการนำเข้าวัตถุดิบ หรือสารสกัดกัญชงจากต่างประเทศได้ (เบื้องต้นในกรอบ 5 ปีจากนี้)

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. แจงขั้นตอนและเงื่อนไขวิธีการจำหน่ายเมล็ดกัญชง (Hemp) ที่จะจำหน่ายในปี พ.ศ.2564 จำนวน 2 พันธุ์ คือ RPF1 และ RPF3 จำนวนประมาณ 5,600 กิโลกรัม ประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์รับรองสำหรับปลูกและเมล็ดสำหรับบริโภค พร้อมเผยราคาจำหน่าย ซึ่งอยู่ระหว่าง 250-750 บาท/กก.

มีเป้าหมายจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมของโครงการหลวงและสวพส. หน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่ดำเนินโครงการวิจัยร่วมกับสวพส. หน่วยงานของรัฐ และบุคคลทั่วไปหรือนิติบุคคล ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ

หลังจากที่กฏหมายได้อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองกัญชงได้ โดยจะเปิดรับการสั่งซื้อระหว่างวันนี้ถึงวันที่ 5 พ.ค.64 ซึ่งผู้สนใจศึกษารายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ของ สวพส. https://www.hrdi.or.th/

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/cannabis-z3211.aspx