เอกชน จี้รัฐบาล เร่งใช้ “รถยนต์ไฟฟ้า” เร็วขึ้น ขอก่อนปี 68


สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจภาคเอกชน โดยผู้บริหารบริษัท 200 คน จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ในสังกัด ส.อ.ท. พบว่า 47% เร่งให้ภาครัฐดำเนินการแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ในประเทศ ให้เร็วขึ้นจากเดิม ที่กำหนดไว้ในปี 2568

โดยผลสำรวจดังกล่าว ส่วนใหญ่ 47% เห็นว่า ควรเริ่มให้มีการใช้ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ในประเทศก่อนเป้าหมายปี 2568 รองลงมา31.5% เห็นด้วยตามกรอบระยะเวลาที่จะเริ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในปี 2568 ขณะที่ 11% และ 10.5% เห็นว่าควรเสนอให้เลื่อนการดำเนินงานตามแผนฯ ออกไป 5 ปี และ 10 ปี ตามลำดับ

สำหรับปัจจัยที่จะเป็นตัวเร่งทำให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ พบว่า 3 อันดับแรก คือ 78.5% คือเรื่องราคารถยนต์ไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา รองลงมา 75% เป็นเรื่องการเพิ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ให้เพียงพอและครอบคลุมทั่วประเทศ และ 56% เป็นเรื่องระยะทางในการใช้งานที่เหมาะสมของรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งความสะดวกในการชาร์จ

ด้านมาตรการของภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ พบว่า 3 อันดับแรก 76.5 % ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ตามปริมาณ CO2 รองลงมา 59.5% เป็นการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ Charging Station ให้จูงใจผู้ใช้งาน และอีก 55.5% เป็นการปรับปรุงภาษีรถยนต์ประจำปีเพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

ส่วนการเตรียมความพร้อมของภาครัฐเพื่อรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต 3 อันดับแรก พบว่า ส่วนใหญ่ 85% ให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ให้มีสถานีเพียงพอและครอบคลุมในแต่ละพื้นที่ รองลงมา 65.5% เป็นการบริหารจัดการซากรถยนต์และแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ และ 54.5% เป็นการเตรียมการจัดหาไฟฟ้าและพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานในระยะยาว

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังให้ความเห็นในกรณีที่ภาครัฐจะเร่งรัดการใช้และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในเรื่อง 3 อันดับแรก โดยส่วนใหญ่ 65.5% เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้มีการผลิตแบตเตอรี่ที่คุณภาพดีและมีราคาเหมาะสมภายในประเทศ

รองลงมา 62.5% เป็นการเตรียมการปรับปรุงโครงสร้างภาษีและพิกัดศุลกากรเพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และ 61.5% เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการใน Supply Chain ของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป (ICE) ในการปรับตัวไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่อุตสาหกรรมที่ควรเร่งปรับตัว รับ การใช้ ยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ คิดเป็น 88.5% รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 49% และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็น 46.5%