เปิดมุมมองเจ้าสัว CP กับ 6 ข้อเสนอแนะฝ่าวิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 ชี้วัคซีนเหลือยังดีกว่าขาด


การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงวงเวียนอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะการระบาดระลอก 3 ที่ดูดหมือนว่าจะรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ รวมถึงยอดจำนวนของผู้เสียชีวิตซึ่งอยู่ในเลข 2 หลักในระยะหลัง

เพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาครัฐฯ ต้องออกมาตรการเพื่อยับยั้งสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ เช่นเดียวกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกประเทศไทยก็ออกมาตรการมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ลูกจ้าง รวมถึงด้านการแพทย์

เริ่มตั้งแต่การสนับสนุนงบประมาณ 200 ล้านบาทให้กับโรงพยาบาลสนามต่าง ๆ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งจะเน้นไปที่อาหาร เครื่องดื่ม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาด โดยเริ่มต้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อยอดไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ อาทิ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลของทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เป็นต้น

อีกทั้ง เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังจะจัดส่งอาหารครบทั้ง 3 มื้อให้กับโรงพยาบาลสนามของจุฬาลงกรณ์ฯ รวมถึง Hospitel อีก 4 แห่งในความรับผิดชอบของ รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ และจะให้กลุ่มทรูจัด ไวไฟบริการฟรีในโรงพยาบาลสนามของจุฬาลงกรณ์ที่จะเปิดใหม่

นอกจากนี้ ยังจัดทำโครงการจากพนักงานร้านอาหารที่อยู่ในสาขาโลตัสของ 6 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านให้มาทำงานในไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นการชั่วคราว เพื่อรองรับความต้องการที่จะซื้ออาหารกลับไปทำเองที่บ้านของผู้บริโภค

ล่าสุด เจ้าสัวธนินท์ ได้แบ่งปันมุมมองสำหรับการปรับตัวเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 โดยสรุปได้ดังต่อไปนี้

1. “การรักษาชีวิตตัวเองไม่ให้ไปติดเชื้อ รับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม และไม่เอาไปติดคนในครอบครัว คือการช่วยประเทศแล้ว” ชีวิตของตัวเองสำคัญที่สุด คนไทยทุกคนต้องไม่ไปสุ่มเสี่ยง

2. “ภาคเอกชน ต้องดูแลพนักงานให้ดีที่สุด” บริษัทใดที่สามารถให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ให้ Work Form Home องค์กรที่มีกำลังต้องดูแลพนักงานตัวเองให้ดี รักษาธุรกิจให้รอดไปได้ แม้จะลำบากก็ต้องพยายาม ดูแลพนักงาน พยายามไม่ปลดพนักงาน เพราะ “ยามมืดต้องคิดถึงเมื่อยามสว่าง”

3. “วัคซีน มีหลากหลายยี่ห้อ ไฟเซอร์, สปุตนิค วี ของรัสเซีย, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และอื่น ๆ โดยควรมีวัคซีนทางเลือก มีเยอะดีกว่าขาด เอกชนพร้อมนำเข้าวัคซีนส่วนเสริม นำมาให้พนักงาน เป็นการลดภาระภาครัฐอีกทางหนึ่ง” ต้องนำเข้ามาอย่างรวดเร็ว ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดวัคซีนทั้งเป็นของผู้ขายไม่ใช่ผู้ซื้อ ซึ่งผู้ซื้อต่อให้มีเงิน อาจซื้อได้ยาก เพราะมีผู้ต้องการซื้อทั่วโลก แต่หลังจากนี้จะเป็นตลาดผู้ซื้อ ทำให้โอกาสเข้าถึงวัคซีนที่หลากหลายมีความเป็นไปได้

4. “นอกจากหาวัคซีนแล้ว ยารักษาเป็นส่วนสำคัญ ยิ่งได้ยาเร็ว ยิ่งมีโอกาสรอด” ควรมีการสนับสนุนการจัดหายา และ ยาทางเลือก รวมทั้งยาที่เป็นความรู้ของแพทย์แผนไทยด้วย อย่างเมืองจีน มียาพื้นถิ่นที่ขับเสมหะ ทำให้คนจีน ลดอาการป่วยหนักได้ ยาแผนไทยก็มีหลายตัวที่เอามาใช้ได้ หากสนับสนุนให้ดี

5.”รายเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องเข้าถึงแหล่งเงินทุน ธุรกิจ เล็ก กลาง ใหญ่ เกื้อกูลกัน ต้องไม่ให้ล้ม รักษาชีวิตธุรกิจไว้ให้ได้” การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ธนาคาร และ ภาคธุรกิจ การที่เอสเอ็มอี เข้าไม่ถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงินสดไม่พอ เช่น เอกชน สามารถการรับรองคู่ค้าที่มีคุณภาพกับธนาคาร เพื่อให้ธนาคารกล้าปล่อยเงินกู้ให้คู่ค้า เอสเอ็มอี รายย่อยทำให้อยู่รอดไปด้วยกัน เป็นต้น

6. “หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์คือนักรบด่านหน้า วันนี้ต้องให้กำลังใจ และ สนับสนุน” หมอ พยาบาล ต้องสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็น และความปลอดภัยของหมอ พยาบาลสำคัญที่สุด มีเตียงแต่ไม่มีหมอ ก็ไม่สามารถชนะวิกฤตครั้งนี้ได้ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันไปเสริมสิ่งที่ขาด ต้องฟังคนที่อยู่หน้างาน