เรื่องเล่าคนช้ำ ฉบับนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับไร่มันสำปะหลังยุคดิจิทัล ของลุงพโยม เกษตรกรจาก จังหวัดอุทัยธานี ที่ทำแล้วได้ผลผลิตดี มีเคล็ดลับในการปลูกที่น่าสนใจ เป็นอย่างไรไปติดตามกันเลย
ลุงโพยม หรือนายโพยม สายหยุด ประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่มันสําปะหลัง จังหวัดอุทัยธานี เล่าถึงตัวเองว่า เป็นคนต่างจังหวัดที่ครั้งหนึ่งเคยคิดที่จะมาตามหาฝันในกรุงเทพมหานคร อยากมีรายได้ที่ดีเพื่อส่งกลับไปให้ครอบครัว จึงดั้นด้นเดินทางมารับจ้างแรงงาน แต่แล้วฝันนั้นก็พลันสลายด้วยหลายเหตุผล เช่น ต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 หลังจากนั้นก็มาขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่พอหาเงินแค่ยาไส้ได้วันต่อวัน เมื่อครั้นอายุเริ่มมากขึ้น สุดท้ายจึงตัดสินใจทิ้งความฝัน เดินทางกลับยังภูมิลำเนาบ้านเกิดที่จังหวัดอุทัยธานี เพื่อเริ่มต้นนับหนึ่ง ตามหาฝันใหม่อีกครั้ง
“ผมกลับจังหวัดอุทัยธานีมาประกอบอาชีพทำการเกษตร พอเห็นมีคนปลูกมันสำปะหลังแล้วได้กำไรดี ผมก็ตามมาปลูกกับเขาด้วย โดยมีทางกรมชลประทานเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของน้ำที่จะจัดสรรจากเขื่อนระบำ (เขื่อนทับเสลา) มาให้กับเกษตรกรในหมู่บ้านเพชรน้ำผึ้ง ในช่วงฤดูแล้งก็ส่งน้ำให้ ซึ่งพอน้ำดีผลผลิต ของเราก็งอกงาม”
ลุงพโยมได้เผยเคล็ดลับในการปลูกมันสำปะหลังให้เจริญงอกงามได้ผลดี ซึ่งก็ไม่ยากอย่างที่คิดสามารถปฏิบัติตามได้ โดยเริ่มจากการไถพรวนดินเพื่อเตรียมดินให้ดี ตัวดินจะได้ไม่มีวัชพืช ขั้นตอนต่อมาคือ ทำการยกร่องหรือทำสันร่องปลูกมันสำปะหลังขึ้นมา หลังจากนั้นจึงทำการตัดมันสำปะหลังซึ่งจะใช้ลำต้นเป็นท่อนพันธุ์เสียบลงเพื่อปลูกไปตามร่องเท่านี้ก็เป็น อันเสร็จสิ้น
ส่วนเคล็ดลับในการดูแลรักษามันสำปะหลังนั้น ลุงพโยม เล่าถึงเคล็ดลับว่า ทุกวันนี้ความรู้นั้นมีอยู่รอบตัวเรามากมายเต็มไปหมด ยกตัวอย่างสำหรับปัญหามันสำปะหลังในช่วงฤดูแล้ง เพลี้ยจะลงเยอะมาก ซึ่งจะส่งผลทำให้มันสำปะหลังไม่แตกยอดและทำให้ไม่เจริญเติบโต ปัญหานี้แก้ไขได้ไม่ยาก ให้ใช้นวัตกรรมระบบน้ำหยด เพื่อให้น้ำกับมันสำปะหลังได้ตลอด ทั้งยังช่วยประหยัดน้ำอีกด้วย
ส่วนอีกปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังจะพบคือ โรคใบเหลืองซึ่งเกิดจากเชื้อราไฟทอปธอรา เป็นเชื้อราในดิน ใบที่เหลืองจะส่งผลให้พืชไม่สามารถปรุงอาหารเองได้ และเมื่อปรุงอาหารไม่ได้หัวมันก็จะไม่โต
“การแก้ไขปัญหาก็คือ ผมจะเข้าไปหาความรู้ ในอินเทอร์เน็ต เปิดเข้าไปดูว่าปัญหานั้นแก้ไขอย่างไร ซึ่งก็มีวิธีการมากมาย ศึกษาแล้วก็นำมาปฏิบัติใช้ เมื่อได้ผลที่ดีก็นำไปบอกพวกพ้อง สร้างกลุ่มแกนนำในการที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยมีภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ สร้างให้กลุ่มเราเป็นเกษตรแปลงใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน
สุดท้าย ลุงพโยมได้ฝากถึงพี่น้องเกษตรกร ที่ก่อนอยากจะไปตามหาฝันที่อื่น ให้นึกถึงพื้นที่ที่เราอยู่ ที่ที่เราเกิดมาว่าเราสามารถจะสร้างอาชีพในพื้นที่เหล่านี้ได้ก่อนไหม ถึงแม้ว่าบางสิ่งบางอย่างมันจะดูไม่สวยหรู ดูเหมือนจะทำแล้วขายไม่ได้ แต่เรายังสามารถทำเพื่อเก็บไว้กินเองได้ การประกอบอาชีพเกษตรกรรมแม้จะได้เห็นผลช้า แต่ทำแล้วจะพบกับ ความสุขที่ยั่งยืน ซึ่งบางคนแค่หากได้ลองเริ่มต้นรดน้ำพรวนดินก็สร้างความสุขให้เราได้แล้ว